Abstract:
การครอบครองการสนทนาเป็นหัวข้อหนึ่งที่สำคัญที่นักสนทนาวิเคราะห์สนใจศึกษา (Itakura, 2001; Linell, Gustavsson, & Juvonen, 1988) งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการครอบครองการสนทนาในภาษาไทยกับปัจจัยเรื่อง สถานภาพ ผู้วิจัยเลือกคู่ความสัมพันธ์ครู-นักเรียนเป็นตัวแทนคู่สนทนาที่มีสถานภาพต่างกัน และคู่ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน เป็นตัวแทนคู่ความสัมพันธ์ที่มีสถานภาพเท่ากัน และศึกษาการครอบครองการสนทนาของนักเรียนคนเดียวกันกับคู่สนทนา ที่มีสถานภาพเท่ากันและต่างกัน ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามาจากฐานข้อมูลชุดมิสเตอร์โอ 2 ชุด ได้แก่ การสนทนาแบบ เน้นภารกิจ จำนวน 9 คู่ และการสนทนาแบบแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จำนวน 9 คู่ รวมความยาวทั้งสิ้น 264.8 นาที กรอบวิเคราะห์ที่ใช้ในการศึกษาเป็นกรอบการวิเคราะห์ของ Linell, et al. (1988) และ Itakura (2001 a, b) ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยสถานภาพมีผลต่อการครอบครองการสนทนาในสังคมไทย กล่าวคือ ครูครอบครองการ สนทนาในด้านความยาวของผลัดและด้านการลำดับผลัด อย่างไรก็ตาม ครูและนักเรียนต่างฝ่ายต่างพยายามครอบครองการ สนทนาในด้านการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นข้อค้นพบสำคัญที่สามารถตีความได้สองประการ ประการแรก คือ ครูและนักเรียนอาจมี ระยะเชิงอำนาจลดน้อยลงชั่วขณะในขณะทำกิจกรรมร่วมกัน และอาจตีความได้อีกประการหนึ่งว่า ครูและนักเรียนมีแนวโน้ม ที่จะมีระยะห่างเชิงอำนาจลดลงในสังคมไทยปัจจุบัน ส่วนในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน พบว่า แม้ว่าจะมีนักเรียนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครอบครองการ สนทนา แต่ก็ไม่ได้ครอบครองการสนทนาในทุกมิติ เนื่องจากนักเรียนมีสถานภาพเท่ากัน มิติที่นักเรียนครอบครองการสนทนา คือด้านการลำดับผลัด ทั้งนี้ ผู้วิจัยเห็นว่า ฝ่ายที่ครอบครองการสนทนาในมิติดังกล่าวเป็นนักเรียนที่มีประสบการณ์ในการ ทำกิจกรรมร่วมกับครูมาก่อน อันสะท้อนให้เห็นว่า “ประสบการณ์” ก็มีผลต่อการครอบครองการสนทนาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คู่ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียนก็ไม่ได้มีระยะห่างเชิงอำนาจมากเท่าคู่ความสัมพันธ์ครูกับนักเรียน นอกจากนี้ เมื่อศึกษาการปรับพฤติกรรมการปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนคนเดียวกันกับคู่สนทนามีสถานภาพเท่ากัน และต่างกันแล้ว พบว่า ปัจจัยสถานภาพทางสังคมมีผลต่อการปรับพฤติกรรมการครอบครองการสนทนา นักเรียนปรับ พฤติกรรมการปฏิสัมพันธ์ด้านความยาวของผลัดและด้านการลำดับผลัดให้สอดคล้องกับคู่สนทนา อย่างไรก็ตาม นักเรียน ไม่ได้ปรับพฤติกรรมการปฏิสัมพันธ์ในด้านการมีส่วนร่วม อันสะท้อนให้เห็นว่า มิติด้านการลำดับผลัดและด้านความยาวของ ผลัดเป็นตัวแปรที่สำคัญในการปรับวิถีการปฏิสัมพันธ์กับคู่สนทนาที่มีสถานภาพทางสังคมต่างกัน