Abstract:
การให้บริการยานพาหนะร่วมเดินทางผ่านแอปพลิเคชัน ไรด์-แชริ่ง (Ride - Sharing) เป็นรูปแบบของธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่มีมากเกินความจำเป็น และไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ผ่านการให้บริการบนแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ ให้เข้าถึงสินค้าหรือบริการ โดยอาศัยข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ แนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาในระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และทำให้ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการไปทั่วโลก การให้บริการในรูปแบบไรด์-แชริ่ง (Ride-Sharing) นี้ ทำให้เกิดการพลิกผันของธุรกิจมากมาย เนื่องจาก ดิสรัปทีฟ เทคโนโลยี (Disruptive Technology) ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงบริบทที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และยังทำลายระบบการให้บริการขนส่งสาธารณะในลักษณะเดิมที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยการปฏิวัติสังคมไปในทางที่ดีขึ้น สำหรับสมาชิกประชาคมอาเซียนจำนวน 7 ใน 10 ประเทศ (ยกเว้นประเทศไทย เมียนมา ลาว) ล้วนให้การสนับสนุน และมีกฎหมายรองรับ กำกับดูแลการให้บริการในลักษณะนี้ เนื่องจากเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชนให้เข้าถึงบริการ และเป็นการยกระดับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะภายในประเทศ บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบการกำกับดูแลธุรกิจไรด์-แชริ่ง (Ride-Sharing) ของไทย และอาเซียนในปัจจุบัน รวมทั้งศึกษาอิทธิพลของปัจจัยทางเศรษฐกิจ และการเมือง ที่ส่งผลต่อนโยบายหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการกำกับดูแลธุรกิจไรด์-แชริ่ง (Ride-Sharing) สำหรับการศึกษาในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลประเภททุติยภูมิแบบรายปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 8 ปี มาทำการวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยใช้ทฤษฎีสมการถดถอยพหุคูณ ด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุด ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อนโยบายหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการกำกับดูแลธุรกิจไรด์-แชริ่ง (Ride-Sharing) ได้แก่ ราคาค่าบริการรถขนส่งสาธารณะ, อัตราภาษีรถ, ค่าใบอนุญาติขับขี่ และจำนวนรถ สำหรับการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจไรด์-แชริ่ง (Ride-Sharing) ในไทย และอาเซียน สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านบุคคล, ด้านตัวรถ, ด้านบริษัทที่ขอใบอนุญาต และด้านระบบและการให้บริการ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายกำกับดูแลในไทยต่อไป