Abstract:
ความขัดแย้งในโครงการก่อสร้างเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ความขัดแย้งสามารถแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลักได้แก่ เอกสารสัญญาและการบริหารสัญญา โดยความขัดแย้งจากเอกสารสัญญาเกิดจากเงื่อนไขของสัญญาที่ไม่ครบถ้วน และเอกสารสัญญามีความขัดแย้งกัน ในขณะที่ความขัดแย้งจากการบริหารสัญญาเกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาที่จงใจและไม่ได้จงใจ ซึ่งการจงใจปฏิบัติผิดสัญญาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้แต่การไม่ได้จงใจปฏิบัติผิดสัญญาอาจเกิดจากความประมาทหรือการขาดความเข้าใจในการปฏิบัติตามสัญญา การบริหารสัญญาเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ควบคุมงานก่อสร้างภาครัฐที่ต้องมีความเข้าใจในการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ประเด็นความขัดแย้งของการบริหารสัญญา และพัฒนาเครื่องมือประเมินความรู้สำหรับผู้ควบคุมงานก่อสร้างภาครัฐในเรื่องความขัดแย้งของการจัดการสัญญา งานวิจัยเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ประเด็นความขัดแย้งของการบริหารสัญญาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหาจากเอกสารคำพิพากษาศาลปกครอง ผลการศึกษาเบื้องต้นพบประเด็นความขัดแย้ง 3 อันดับแรกเกี่ยวกับ ค่าปรับ การชำระค่าจ้าง และค่าเสียหาย งานวิจัยในส่วนที่สองเป็นพัฒนาเครื่องมือประเมินความรู้สำหรับผู้ควบคุมงานก่อสร้างภาครัฐ โดยใช้โมเดลภาวะสันนิษฐาน (Four Building Blocks) เป็นเครื่องมือสำหรับการออกแบบเกณฑ์การประเมิน การออกแบบข้อคำถาม การออกแบบเกณฑ์การให้คะแนน และโมเดลการวัด หลังจากนั้นเครื่องมือประเมินจะถูกตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์ ภายหลังปรับปรุงการออกแบบคําถามพบว่าเกณฑ์การประเมินสามารถสะท้อนถึงระดับความเข้าใจได้ ผลการศึกษาพบว่าการประยุกต์ใช้เครื่องมือประเมินความรู้สามารถวัดความแตกต่างในระดับความเข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งจากการจัดการสัญญาระหว่างสองกลุ่มตัวอย่าง แต่อาจมีข้อจำกัดในการประเมินระดับความเข้าใจของบางประเด็นความขัดแย้ง