Abstract:
การตรวจจับอนุภาคขนาดเล็กด้วยสายตามนุษย์ในของเหลวใสไม่มีสีในบรรจุภัณฑ์ เช่น น้ำเกลือถุงนิ่มนั้น ยังได้รับความนิยมเพราะเป็นงานตรวจสอบที่ไม่ซับซ้อน แต่การตรวจสอบด้วยสายตานี้มีโอกาสเกิดความผิดพลาดของมนุษย์ได้ง่ายเนื่องจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจจับอนุภาคขนาดเล็กด้วยตาเปล่าที่ปะปนในของเหลวใสและไม่มีสีในบรรจุภัณฑ์ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์หาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถของพนักงานตรวจสอบด้วยสายตาและออกแบบวิธีการทำงานของพนักงานสำหรับงานตรวจสอบน้ำเกลือในถุงนิ่มใส การดำเนินงานวิจัยได้เริ่มจากคัดเลือกพนักงานเพศหญิง อายุระหว่าง 25 ถึง 30 ปี มีค่าสายตาปกติ เพื่อเข้าร่วมการทดลอง แบ่งเป็นกลุ่มพนักงานที่มีประสบการณ์มากกว่าสองปีและกลุ่มที่มีประสบการณ์น้อยกว่าสองปี หลังจากนั้นทำการทดสอบการทำงานตรวจสอบของพนักงานโดยใช้สถานีทดลอง 16 สถานี ให้ทำการตรวจจับอนุภาคที่ปะปนในน้ำเกลือบรรจุในถุงนิ่ม ตัวแปรต้นในการทดลองได้แก่ (1) ท่าทางในการตรวจมีสองลักษณะ ได้แก่ท่าทางอิสระและท่าทางที่กำหนด (2) ระยะเวลาในการตรวจจับ 5 และ 10 วินาที (3) ระยะเวลาพักสายตามี 2 แบบ ได้แก่ พักสายตาหนึ่งนาทีทุกการทำงานหนึ่งชั่วโมง และพักสายตาสองนาทีทุกการทำงานหนึ่งชั่วโมง (4) แสงสว่างที่ใช้ในการตรวจได้แก่ 2,000 และ 3,500 ลักซ์ ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตรวจผิดพลาดได้แก่ ท่าทางในการตรวจและระยะเวลาพักสายตา ทำให้สามารถออกแบบสถานีการทำงานดังนี้ 1) การตรวจอนุภาคปนเปื้อนหลังการปรับปรุงกำหนดให้เวลาพักสายตา 2 นาทีทุกๆ การตรวจ 1 ชั่วโมง 2) ใช้ท่าทางในการตรวจที่กำหนด พบว่า %ความสามารถในการทำซ้ำ %ความไม่ลำเอียง มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนการปรับปรุง ส่วน %ความผิดพลาดมีค่าลดลง จาก 5 – 8% เหลือ 0 – 3% ในกลุ่มมีประสบการณ์สองปีขึ้นไป ส่วนในกลุ่มมีประสบการณ์น้อยกว่าสองปี ความผิดพลาดลดลงจาก 13-18% เหลือ 5% เท่านั้น ผลระยะยาวพบว่าสัดส่วนข้อร้องเรียนประเภทอนุภาคปนเปื้อนลดลงจาก 45% เหลือเพียง 5% ภายในระยะเวลาหนึ่งปีหลังการปรับปรุง