Abstract:
ปัจจุบันรัฐได้เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐในรูปแบบของการจ้างดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (PPP O&M) สัญญารูปแบบดังกล่าว รายได้จากการเก็บค่าผ่านทางจะเป็นของรัฐทั้งหมด แล้วจ่ายผลตอบแทนให้กับเอกชนในลักษณะอัตราเหมาจ่าย โดยรัฐต้องแบกรับความเสี่ยงด้านการตลาด (Market risk) เช่น ความเสี่ยงด้านปริมาณจราจร เป็นต้น ส่วนเอกชนแบกรับความเสี่ยงด้านการลงทุนงานระบบ และค่ายใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษา สัญญา PPP O&M ได้นำกลไกการจ่ายค่าตอบแทน (Payment mechanisms) ที่เรียกว่า “Availability Payment หรือ AP” โดยอาจจะมีการปรับลดค่าตอบแทน (Payment Adjustment) ถ้าเอกชนผู้ให้บริการไม่สามารถรักษาสภาพความพร้อมใช้และคุณภาพของการให้บริการได้ตามสัญญา
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลไกการจ่ายค่าตอบแทนตามความพร้อมใช้ และเกณฑ์การคำนวณการปรับค่าตอบแทนของสัญญา PPP O&M และเพื่อสร้างกรอบการคำนวณ (Computational framework) สำหรับวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงิน ปัจจัยเสี่ยงและระดับความเสี่ยง (Risk variables and risk profile) ของผู้มีส่วนได้เสียหลัก ได้แก่ (1) รัฐเจ้าของโครงการ (2) เอกชนผู้ให้บริการ และ (3) สถาบันการเงินผู้ให้เงินกู้ยืม ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสียหลักในการพัฒนากลไกการจ่ายค่าตอบแทน โดยงานวิจัยนี้ใช้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 บางปะอิน - นครราชสีมา เป็นโครงการกรณีศึกษา ผลการศึกษาพบว่ากรอบการคำนวณที่ได้พัฒนาสามารถนำมาใช้ในการประเมินผลตอบแทนทางการเงินและระดับของความเสี่ยงของแต่ละฝ่าย โดยแสดงผลการประเมินความเสี่ยงในรูปแบบ Risk profile เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการความเสี่ยงให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย