Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้อภิภาษาศาสตร์กับการออกเสียงสั้นยาวของสระภาษาไทยของผู้เรียนชาวจีนก่อนและหลังการแทรกเชิงปฏิบัติ ผู้เข้าร่วมการวิจัยมีทั้งหมด 30 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดสอบที่ 1 ผู้เรียนชาวจีนที่ได้รับการฝึกหัดอย่างเดียวจำนวน 10 คน กลุ่มทดสอบที่ 2 ผู้เรียนชาวจีนที่ได้รับการสอนกฎการออกเสียงพร้อมกับการฝึกหัดจำนวน 10 คน และกลุ่มต้นแบบ ผู้พูดชาวไทยจำนวน 10 คน
การทดสอบแรกเป็นการทดสอบการผลิตเสียงสระสั้นยาว โดยวัดค่าระยะเวลาสระสั้นยาวของผู้เรียนชาวจีนและผู้พูดชาวไทยก่อนและหลังการแทรกเชิงปฏิบัติ ผลการทดสอบการผลิตเสียงสระสั้นยาวชี้ให้เห็นว่า ก่อนการแทรกเชิงปฏิบัติการผลิตเสียงสระสั้นยาวของผู้เรียนชาวจีนต่างกับผู้พูดขาวไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่เมื่อผ่านช่วงการแทรกเชิงปฏิบัติแล้ว การผลิตเสียงสระสั้นยาวของผู้เรียนชาวจีนใกล้เคียงกับผู้พูดชาวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้เรียนชาวจีนที่ได้เรียนกฎพร้อมกับการฝึกหัด ส่วนการทดสอบที่สองเป็นการทดสอบการระบุเสียงสระสั้นยาว โดยวิเคราะห์คะแนนและเหตุผลการจำแนกสระสั้นยาวของผู้เรียนชาวจีนและผู้พูดชาวไทยก่อนและหลังการแทรกเชิงปฏิบัติ ผลทดสอบการระบุเสียงสระสั้นยาวแสดงให้เห็นว่า ก่อนการแทรกเชิงปฏิบัติ ผู้เรียนชาวจีนใช้ความรู้เกี่ยวกับเสียงสั้นยาวของรูปสัญลักษณ์สระเท่านั้นในการระบุเสียงสระสั้นยาว แต่หลังจากผ่านการแทรกเชิงปฏิบัติแล้ว แม้ว่าคะแนนการระบุเสียงสระสั้นยาวของผู้เรียนชาวจีนที่ได้รับการฝึกหัดอย่างเดียวยังต่างกับผู้พูดชาวไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ผู้เรียนชาวจีนกลุ่มนี้พยายามสร้างกฎต่าง ๆ และนำไปประยุกต์ ส่วนผู้เรียนชาวจีนที่ได้เรียนกฎพร้อมกับการฝึกหัดไม่พบความต่างกับผู้พูดชาวไทยอีกต่อไป
ดังนั้นการวิจัยนี้สรุปว่า ก่อนการแทรกเชิงปฏิบัติ การออกเสียงสระภาษาไทยของผู้เรียนชาวจีนแตกต่างจากผู้พูดชาวไทยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่หลังจากการแทรกเชิงปฏิบัติแล้ว การออกเสียงสระภาษาไทยของผู้เรียนชาวจีนที่ได้เรียนกฎพร้อมกับการฝึกหัดจะมีความใกล้เคียงกับผู้พูดชาวไทยมากกว่าผู้เรียนชาวจีนที่ได้รับการฝักหัดอย่างเดียว แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้กฎการออกเสียงอย่างชัดเจนจนเกิดความรู้อภิภาษาศาสตร์ในการออกเสียงมีผลดีต่อการออกเสียงสระภาษาไทยสำหรับผู้เรียนชาวจีน การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้อภิภาษาศาสตร์กับการออกเสียงสระภาษาไทยนี้สะท้อนให้เห็นบทบาทสำคัญของความรู้อภิภาษาศาสตร์ในการเรียนภาษาที่สอง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการศึกษาความรู้อภิภาษาศาสตร์สำหรับการออกเสียงสระสั้นยาวในภาษาไทยและเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับผู้เรียนชาวจีน