Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาแนวคิดในกวีนิพนธ์ของกวีหญิงไทยช่วง พ.ศ. 2530 – 2559 และวิเคราะห์กลวิธีการนำเสนอแนวคิดในกวีนิพนธ์ดังกล่าว ผลการศึกษาพบว่า กวีนิพนธ์ของกวีหญิงไทยช่วงดังกล่าวนำเสนอแนวคิดที่สัมพันธ์กับสังคม ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับผู้หญิงที่นำเสนอบทบาททางเพศของผู้หญิง ความความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง ปัญหาโสเภณีและการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง แนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่นำเสนอภาพลักษณ์สังคมเมือง ความล่มสลายของสังคมชนบท และปัญหาสังคมอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยม แนวคิดเกี่ยวกับการเมือง โดยเฉพาะการวิพากษ์นักการเมืองและการบริหารงานของรัฐบาล การสะท้อนปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งการต่อต้านความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนและการตักเตือนประชาชนให้มีวิจารณญาณรู้เท่าทันการเมือง แนวคิดด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนำเสนอคุณค่าของธรรมชาติ แสดงปัญหาวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติและมุ่งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติแก่สังคม
ในด้านกลวิธีทางวรรณศิลป์พบว่ากวีนิพนธ์ของกวีหญิงเหล่านี้ใช้กลวิธีอย่างหลากหลายเพื่อถ่ายทอดแนวคิด ได้แก่ กลวิธีการสร้างให้ผู้หญิงเป็นผู้พูดในกวีนิพนธ์เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองของผู้หญิงต่อสังคม การอ้างถึงผู้หญิงในตำนาน วรรณคดีและประวัติศาสตร์ เพื่อนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเชิดชูคุณค่าบทบาทของผู้หญิงและการวิพากษ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมปิตาธิปไตย กลวิธีการใช้ภาพพจน์และสัญลักษณ์เกี่ยวกับผู้หญิง เช่น การใช้ภาพพจน์และสัญลักษณ์เกี่ยวกับธรรมชาติ เรือนร่าง และสิ่งของเครื่องใช้เพื่อนำเสนอทัศนะเกี่ยวกับสังคม