Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อถกเถียงเรื่องความทรงจำในงานเขียนเรื่อง Memory, History, Forgetting ของปอล ริเคอร์ แม้ว่าการถกเถียงเรื่องความทรงจำมักจะเป็นการถกเถียงระหว่างแนวคิดเรื่องความทรงจำของปัจเจกและแนวคิดเรื่องความทรงจำร่วม แต่ริเคอร์ได้แสดงให้เห็นว่าความทรงจำเป็นการปรากฏของสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว สำหรับริเคอร์ ความทรงจำจึงเป็นการนำเสนออดีต การนำเสนออดีตของความทรงจำทำให้เราสามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างความทรงจำของปัจเจกและความทรงจำร่วมได้ แม้ว่าความทรงจำจะเป็นสิ่งที่ปรากฏในสภาวะการระลึกรู้ของปัจเจก แต่การคงอยู่ของภาพความทรงจำกลับอาศัยการสนับสนุนของคนอื่นและสังคม ในทางกลับกัน ความทรงจำยังอาจถูกปฏิเสธโดยสังคมได้ เช่น ในกรณีของความทรงจำบาดแผล ในมุมมองของริเคอร์ ความทรงจำจึงเป็นสิ่งที่คงอยู่ได้โดยอาศัยแนวคิดเรื่องความยุติธรรมและความทรงจำยังต้องอยู่ในความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์
ในวิทยานิพนธ์นี้ ผู้เขียนแจกแจงความสัมพันธ์ระหว่างความทรงจำและประวัติศาสตร์ในแนวคิดของริเคอร์ จากการชี้ให้เห็นว่าความทรงจำและประวัติศาสตร์มีสถานะเป็นการนำเสนออดีตร่วมกัน ความทรงจำจึงเป็นสิ่งที่แยกไม่ขาดจากประวัติศาสตร์ ภายใต้การมีอยู่ของประวัติศาสตร์ ความทรงจำจึงจะไม่ใช่สิ่งที่เราต่างคนต่างจำ แต่การจดจำอดีตยังต้องเกิดขึ้นผ่านการสืบหาความจริงของประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม แม้ประวัติศาสตร์จะมีความสำคัญ แต่การมีความทรงจำเท่านั้นที่จะทำให้เราจดจำสิ่งที่ถูกหลงลืมได้ ภายใต้การเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมที่ไม่อาจลืมได้ลง การมีความทรงจำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถที่จะมีความยุติธรรมต่อคนอื่น