Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างนวลักษณ์ของนิราศในนิราศนครวัด พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและศึกษาความสำคัญของนวลักษณ์ต่อวรรณกรรมในสมัยต่อมาโดยใช้แนวคิดเรื่องนวลักษณ์ อารมณ์โหยหาอดีต และวาทกรรมในการศึกษา
ผลการศึกษาพบว่า นวลักษณ์ของนิราศที่ปรากฏในนิราศนครวัดประกอบด้วย นวลักษณ์ด้านรูปแบบ นิราศนครวัดแต่งเป็นร้อยแก้วอย่างบันทึกการเดินทางรายวันโดยใช้กลอนนิราศขึ้นต้นเรื่องเป็นคำนำ ลักษณะการแต่งแบบร้อยแก้วเป็นการขจัดข้อจำกัดในการเล่าเรื่องซึ่งเกิดจากข้อบังคับเรื่องเสียงและคำจากฉันทลักษณ์ร้อยกรอง ส่งผลให้ผู้ทรงพระนิพนธ์เล่าเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ นวลักษณ์ด้านเวลา นิราศนครวัดมีการลำดับเวลาที่ต่างไปจากเวลาในนิราศตามขนบซึ่งดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศจากโลกจริง กล่าวคือ ประกอบด้วยมุมมองการเล่าจากอนาคตด้วยกระบวนการจัดเตรียมและแก้ไขต้นฉบับให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกนอกตัวบท แสดงถึงพันธะผูกพันที่แยกกันไม่ได้ระหว่างตัวบทกับโลกจริง นวลักษณ์ด้านการครวญและการโหยหาอดีต นิราศนครวัดแสดงการโหยหาอดีตถึงความยิ่งใหญ่รุ่งเรืองของสยามผ่านการครวญถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรซึ่งมีองค์อธิราชเป็นศูนย์กลาง ความเจริญของพระพุทธศาสนา และความเจริญของศิลปวัฒนธรรมรวมถึงสถาปัตยกรรม ต่างไปจากการครวญในนิราศซึ่งแต่เดิมเป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกของกวีถึงนางผู้เป็นที่รัก นวลักษณ์ด้านกลวิธี นิราศนครวัดมีลักษณะเป็นเรื่องเล่า ไม่ใช่ห้วงคำนึงกระจัดกระจายปราศจากเรื่องราวแบบคีตกานต์ในนิราศตามขนบ ความรู้ที่ปรากฏในนิราศนครวัดมีลักษณะเป็นวาทกรรม คือเป็นชุดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกัมพูชา โดยที่ถ้อยแถลงเกี่ยวกับกัมพูชาได้รับการเรียงร้อยเป็นหน่วยที่มีเอกภาพ วาทกรรมเกี่ยวกับกัมพูชาที่ปรากฏในนิราศนครวัด ได้แก่ ภาพดินแดนที่อยู่ในอำนาจของไทยและฝรั่งเศสและภาพดินแดนแห่งอารยธรรมโบราณ สิ่งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ในนิราศนครวัดได้รับการยอมรับและอ้างถึงในงานเขียนสมัยหลังอย่างกว้างขวาง
เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของนวลักษณ์นิราศในนิราศนครวัดกับวรรณกรรมร้อยแก้วประเภทการเดินทางไปกัมพูชาสมัยต่อมา พบว่าตัวบทที่แต่งขึ้นในสมัยหลังมีทั้งกลุ่มที่รูปแบบการแต่งเป็นไปตามความนิยมเดิม คือแต่งเป็นบันทึกการเดินทางรายวัน และกลุ่มที่แต่งเป็นงานเขียนรูปแบบประสมประสาน งานกลุ่มนี้ปรากฏการสะท้อนคิดใคร่ครวญและการโหยหาอดีตแบบนิราศ เป็นการโหยหาบ้านเมืองและระบอบการปกครองในอุดมคติ การแสดงความนิยมชาติ เนื้อหาที่นิยมกล่าวถึง ได้แก่ การบรรยายความยิ่งใหญ่ของโบราณสถาน การกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับกัมพูชา การแสดงทัศนคติต่อกัมพูชา ตัวบทบางเรื่องยังแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์กัมพูชากับผู้เดินทางชาวไทย