Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ลักษณะสัจนิยมมหัศจรรย์ในการนำเสนอความทรงจำบาดแผลในนวนิยายไทยร่วมสมัยคัดสรร ได้แก่ โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า ฉบับปรับปรุงใหม่ (2555) ของศิริวร แก้วกาญจน์ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ (2559) ของวีรพร นิติประภา และวายัง อมฤต (2561) ของอนุสรณ์ ติปยานนท์
ผลการศึกษาพบว่า การใช้องค์ประกอบสัจนิยมควบคู่ไปกับความมหัศจรรย์ภายใต้ตรรกะชุดเดียวกันในการนำเสนอประเด็นความทรงจำบาดแผล ส่งผลให้ความทรงจำบาดแผลซึ่งเป็นอัตวิสัยหรือปรากฏการณ์เชิงนามธรรมในโลกของปัจเจก สามารถปรากฏและดำรงอยู่ในฐานะความจริงอีกรูปแบบหนึ่งทัดเทียมกับความจริงเชิงประจักษ์ พื้นที่สัจนิยมมหัศจรรย์ช่วยให้ความทรงจำบาดแผลที่ไม่สามารถเล่าได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลไม่ถูกลดทอนลงไปเพียงภาพมายาส่วนบุคคล ทั้งยังเผยให้เห็นธรรมชาติที่สลับซับซ้อนและแปลกประหลาดของความทรงจำบาดแผล โดยไม่ตัดสินว่าเป็นเพียงความลวง เนื่องจากไม่สอดคล้องกับการนิยาม “ความจริง” แบบสัจนิยม
นอกจากนี้ ลักษณะสัจนิยมมหัศจรรย์เผยให้เห็นว่า ความทรงจำบาดแผลเป็นความจริงอีกรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประสบเหตุและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างล้ำลึกและยาวนาน จนไม่อาจลดทอนให้เป็นเพียงสภาวะทางอารมณ์ของปัจเจกที่ไม่มีผลต่อการทำความเข้าใจสังคมโดยรวม ลักษณะสัจนิยมมหัศจรรย์เน้นย้ำให้เห็นว่า ความทรงจำบาดแผลมีความสำคัญเท่า ๆ กับข้อมูลเชิงประจักษ์ในการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต อีกทั้งยังเป็นหลักฐานของความเลวร้ายที่ฉายให้เห็นผลกระทบที่ต่อเนื่องยาวนานของประวัติศาสตร์