Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ต้องการศึกษาชีวิตของชาวเวียดนามในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ค.ศ.1945 – 1976 ในฐานะของผู้กระทำทางประวัติศาสตร์ โดยมุ่งเน้นประเด็นในการศึกษาไปที่การเอาตัวรอดของชาวเวียดนามอพยพจากการถูกคุกคามจากรัฐและผู้คนรอบข้างที่มีความเปลี่ยนแปลงตามแต่ละช่วงเวลา โดยวิเคราะห์จากชีวิตของชาวเวียดนามอพยพเป็นรายบุคคล แทนที่จะเป็นการศึกษาชาวเวียดนามอพยพในภาพรวม
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่าการศึกษาชีวิตชาวเวียดนามอพยพแบบปัจเจกบุคคลนั้นทำให้เห็นภาพรายละเอียดที่แตกต่างออกไปจากการศึกษาชาวเวียดนามอพยพในภาพรวม และทำให้เห็นความหลากหลายของชีวิตชาวเวียดนามอพยพมากยิ่งขึ้น ความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวทำให้ชาวเวียดนามอพยพมีวิธีรับมือและเอาตัวรอดที่แตกต่างกันออกไป พวกเขาใช้ทั้งความสัมพันธ์ภายในชุมชนชาวเวียดนามอพยพด้วยกัน ในการสร้างความเข้มแข็งเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับรัฐ ขณะเดียวกันยังมีชาวเวียดนามอพยพอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ความสัมพันธ์ภายในชุมชนชาวเวียดนามอพยพในการเอาตัวรอด แต่เลือกที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ หรือปฏิบัติตามความต้องการของรัฐไทยเพื่อสามารถเอาตัวรอดและได้รับผลประโยชน์จากทางเลือกดังกล่าว ไม่เพียงเท่านั้นชาวเวียดนามอพยพยังรู้จักเลือกใช้องค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลชาวเวียดนามอพยพเป็นเครื่องมือในการเอาตัวรอดอีกด้วย นอกจากนี้แม้ว่าชาวเวียดนามอพยพจะถูกคุกคามจากรัฐและผู้คนรอบข้างบ่อยครั้งแต่พวกเขาก็ยังคงรักษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตนเองกับเจ้าหน้าที่รัฐและชาวไทยในพื้นที่เอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเอาตัวรอดในหลายสถานการณ์