Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์นวนิยายและเรื่องสั้นแนวสยองขวัญของภาคินัยจำนวนทั้งสิ้น 12 เรื่องในด้านการนำเสนอปัญหาในสังคมเมืองร่วมสมัยและกลวิธีการสร้างความหลอกหลอนเพื่อถ่ายทอดประเด็นปัญหาดังกล่าว ผลการศึกษาพบว่าวรรณกรรมสยองขวัญของภาคินัยนำเสนอปัญหาในสังคมเมืองร่วมสมัยหลายประเด็น ได้แก่ การถ่ายทอดให้เห็นว่าสังคมเมืองเป็นพื้นที่แห่งการกดขี่ โดยเฉพาะการกดขี่ทางเพศ สังคมเมืองเป็นพื้นที่แห่งความเสื่อมถอยทางจริยธรรม ทั้งจากการแก่งแย่งแข่งขันในระบบทุนนิยมและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และสังคมเมืองเป็นพื้นที่แห่งความแปลกแยกและความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว อันเป็นผลมาจากแรงบีบคั้นของสังคมทุนนิยมและการให้ความสำคัญกับเปลือกนอก
ในด้านการกลวิธีการสร้างความหลอกหลอน พบว่าภาคินัยนำเสนอความหลอกหลอนทั้งในด้านการสร้างเนื้อเรื่องและโครงเรื่อง การสร้างตัวละคร และการสร้างฉาก ประการแรก เนื้อหาในวรรณกรรมสยองขวัญของภาคินัยประกอบไปด้วยเหตุการณ์หรือชุดเหตุการณ์ที่สร้างความน่าสะพรึงกลัว ได้แก่ การฆาตกรรม
การทรมาน การกักขัง และการปรากฏตัวของผี ผู้แต่งนำเนื้อหาเหล่านี้มาร้อยเรียงเป็นโครงเรื่องที่หลากหลาย ได้แก่ โครงเรื่องแบบสืบสวนสอบสวน โครงเรื่องแบบทำภารกิจ โครงเรื่องแบบเน้นปมปัญหาทางจิต และ
โครงเรื่องแบบรักไม่สมหวัง เพื่อเน้นให้เห็นความผิดปกติ ความสยดสยอง และความรุนแรงที่ล้นเกิน ด้านกลวิธีการสร้างตัวละคร ผู้วิจัยพบว่าภาคินัยมักนำเสนอตัวละครที่สร้างความหลอกหลอน โดยเฉพาะตัวละครผีและตัวละครฆาตกร ที่มีรูปลักษณ์และพฤติกรรมนำเสนอให้เห็นความโหดร้ายและความอยุติธรรมในสังคมเมือง และประการสุดท้าย ฉากในวรรณกรรมสยองขวัญของภาคินัยมักจะเป็นฉากในสังคมเมืองร่วมสมัยที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันและเป็นสถานที่ที่ผู้อ่านคุ้นเคยมาเป็นองค์ประกอบในการสร้างความน่าสะพรึงกลัว เพื่อเร้าอารมณ์ความรู้สึกหวาดระแวงและความวิตกกังวลของผู้อ่าน รวมถึงเผยให้เห็นถึงความรุนแรงที่ซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ในสังคมเมือง