Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเตรียมตัวดูดซับเยื่อชานอ้อยที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบหลักและดัดแปรด้วยเอมีนและศึกษาความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์บนตัวดูดซับดังกล่าว การเตรียมตัวดูดซับเยื่อชานอ้อยจะใช้กระบวนการผลิตเยื่อแบบโซดาและผ่านกระบวนการฟอกด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (BCF) สารเชื่อมขวางพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ (PVA) และเตตระเอธิลออร์โธซิลิเกต (TEOS) กราฟด้วย 3-อะมิโนโพรพิลไตรเอทอกซีไซเลน (APTES) และเคลือบฝังด้วยเพนตะเอทิลีนเฮกซะมีน (PEHA) ที่ปริมาณต่าง ๆ โดยวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของตัวดูดซับด้วยเทคนิควิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี ฟลูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟราเรดสเปคโทรสโกปี เทคนิคการดูดซับด้วยไนโตรเจน เทคนิคการวิเคราะห์เชิงอุณหภูมิความร้อน และวิเคราะห์ลักษณะสัณฐานวิทยาด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด จากผลการทดลอง พบว่า ตัวดูดซับเยื่อชานอ้อยจากกระบวนการผลิตเยื่อแบบโซดามีพื้นที่ผิวจำเพาะที่สูงขึ้นเมื่อผ่านกระบวนการฟอกด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ การดัดแปรตัวดูดซับด้วยสารเชื่อมขวางพอลิไวนิลแอลกอฮอล์และเตตระเอธิลออร์โธซิลิเกตในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ผิวจำเพาะ หมู่ไฮดรอกซิล และการยึดจับของเอมีนบนผิวดูดซับ อีกทั้งความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น เมื่อทำการเคลือบฝังด้วยเพนตะเอทิลีนเฮกซะมีนในปริมาณมากขึ้น นอกจากนี้การกราฟตัวดูดซับด้วย 3-อะมิโนโพรพิลไตรเอทอกซีไซเลน ส่งผลให้ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่อุณหภูมิสูงดีขึ้น และการเพิ่มความชื้นในกระแสแก๊สขาเข้าร้อยละ 1 โดยปริมาตร ช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยตัวดูดซับ 60PEHA/10APTES/20TEOS/1PVA_BCF แสดงค่าความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุด 2.17 และ 2.14 มิลลิโมลต่อกรัม ที่อุณหภูมิ 110 องศาเซลเซียส ภายใต้ภาวะไม่มีและมีความชื้นร้อยละ 1 โดยปริมาตร ในกระแสแก๊ส ตามลำดับ นอกจากนี้ตัวดูดซับแสดงเสถียรภาพที่ดีตลอดการดูดซับและคายซับคาร์บอนไดออกไซด์ 7 รอบ