Abstract:
นับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตถูกคิดค้นขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในโลกไซเบอร์ ปัญหาสำคัญที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือการเพิ่มขึ้นของการโจมตีทางไซเบอร์ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายทางไซเบอร์ แต่ละประเทศในโลกกำลังเริ่มที่จะจัดการกับข้อกังวลของการก่อการร้ายทางอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นวิธีการใหม่ในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ประเทศไทยเป็นหนึ่งที่กำลังตื่นตระหนกและให้ความสนใจในประเด็นนี้ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ ประการจึงทำให้ความก้าวหน้าในการจัดการกับประเด็นนี้มีไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การก่อการร้ายทางไซเบอร์ในประเทศไทยและสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต วิจัยนี้จะทบทวนคำจำกัดความของคำว่าการก่อการร้ายทางไซเบอร์เพื่อกำหนดทิศทางการทำนโยบาย และแผนการเตรียมการของหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงของการก่อการร้ายทางไซเบอร์ไปในทางที่ถูกต้อง โดยการใช้เครื่องมือวิจัยในการศึกษาเอกสารและสัมภาษณ์เชิงลึกกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้ายไซเบอร์ของแต่ละองค์กร เพื่ออธิบายสถานการณ์การก่อการร้ายทางไซเบอร์และวิธีจัดการกับมันในอนาคต
ผลการศึกษาพบว่าสถานการณ์การก่อการร้ายไซเบอร์ในประเทศไทยนั้นเป็นเพียงแค่ภัยคุกคามทางไซเบอร์เท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐของไทยก็มีศักยภาพในเรื่องของการออกกฎหมาย การใช้งบประมาณ และการเข้าถึงทางเทคโนโลยีอย่างปลอดภัยสำหรับประชาชน หากพิจารณาไปยังจุดอ่อนพบว่าประเทศไทยยังต้องมีการปรับปรุงในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ข้อบกพร่องทางเทคโนโลยี และจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อลดจุดอ่อนที่กล่าวมา รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกระทำความผิดทางไซเบอร์ สร้างช่องทางทางอินเทอร์เน็ตใหม่ โดยที่รัฐสามารถควบคุมช่องทางทางไซเบอร์ได้ เพิ่มหลักสูตรความมั่นคงไซเบอร์ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย สร้างเครือข่ายสำรองกับประเทศอื่น ๆ หรือกับภาคเอกชนอื่น ๆ เพื่อรองรับการโจมตี