Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาถึงอุปทานและอุปสงค์ที่อยู่อาศัยบริเวณนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ในเขตพื้นที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และศึกษาถึงเหตุผลในการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปทานส่วนเกิน
จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าในจังหวัดชลบุรีมีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยในปี 2562 เพิ่มขึ้นถึง 28% และเพิ่มขึ้นทั้งในปี 2563 และ 2564 ในขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคมีปริมาณลดลงถึง -44.8% แต่ยังมีภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์และได้รับผลกระทบน้อยด้วย ผู้วิจัยจึงศึกษาอุปสงค์ในประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์นี้ ถึงความต้องการที่อยู่อาศัยและมีปัญหาข้อจำกัดอย่างไร
ผลศึกษาข้างต้นจึงได้มาซึ่งผลการศึกษาถึงอุปทานและอุปสงค์ที่อยู่อาศัยบริเวณนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ในเขตพื้นที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรีนี้ พบว่า มีปริมาณหน่วยเหลือขายที่อยู่อาศัยทั้งหมด 3,168 หน่วย มีระดับราคา 900,000-4,200,000 บาท ซึ่งมีความสอดคล้องกับความสามารถในการกู้ของอุปสงค์ ทำเลที่ตั้งมีความสอดคล้องกับระยะเวลาการเดินทางไปทำงานของผู้ที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม และผลการศึกษาด้านอุปสงค์ พบว่า เป็นกลุ่มที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยโดยตัดสินใจซื้อทันที และกลุ่มที่มีความต้องการซื้อแต่อยู่ระหว่างการชะลอการตัดสินใจ โดยมีเหตุผลในการชะลอการตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่เป็นเหตุผลด้านการเงิน มีแนวทางข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น ปรับรูปแบบการจำหน่ายให้มีระบบผ่อนชำระตรงกับโครงการ การเสนอโปรโมชั่น ส่วนลดพิเศษ และการกู้ร่วม เป็นต้น