Abstract:
ภูมิทัศน์องค์กร (corporate landscape) เป็นรูปแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่มีการใช้งานเป็นสำนักงานขององค์กรหรือสถานที่ทำงานของบุคลากรในองค์กร ในประเทศสหรัฐอเมริกาองค์กรธุรกิจชั้นนำหลายแห่งย้ายสำนักงานออกไปตั้งอยู่บริเวณชานเมือง พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการวางผังและออกแบบพื้นที่โครงการ จนเกิดเป็นภูมิทัศน์องค์กร โดยหลุยส์ โมซิงโก (Louise Mozingo) เรียกว่าพาสตอรัลแคปิตัลลิซึม (Pastoral Capitalism) และกล่าวว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ของอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากความแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกาทำให้ทั่วโลกสนใจภูมิทัศน์องค์กรเช่นกัน การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) รวบรวมโครงการภูมิทัศน์องค์กรในประเทศไทย 2) บ่งชี้แนวโน้มการพัฒนาภูมิทัศน์องค์กรในประเทศไทยทั้งในมิติเชิงเวลาและมิติเชิงพื้นที่ 3) บ่งชี้ประเภทภูมิทัศน์องค์กรในประเทศไทยและปัจจัยที่มีผลต่อการจำแนกประเภทดังกล่าว และ 4) อธิบายลักษณะการวางผังและออกแบบภูมิทัศน์องค์กรในประเทศไทย
ผลการวิจัยพบภูมิทัศน์องค์กรที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันได้ทั้งสิ้น 46 โครงการ ในมิติเชิงเวลาพบว่ามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง สู่ธุรกิจการเงิน จนเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 และฟื้นตัวด้วยอุตสาหกรรมบริการและธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยพบว่าปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่อแนวโน้มดังกล่าว ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจจากภาครัฐ สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ส่วนในมิติเชิงพื้นที่พบว่าภูมิทัศน์องค์กรในประเทศไทยกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก โดยพบว่าข้อจำกัดด้านกฎหมายผังเมือง นโยบายเศรษฐกิจ และการกระจุกตัวของเครือข่ายเศรษฐกิจน่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มดังกล่าว โดยสามารถจำแนกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ องค์กรสถาน สถาบันองค์กร ภูมิทัศน์สำนักงานร่วม และภูมินิเวศย่านธุรกิจ ซึ่งพบว่าปัจจัยด้านลำดับขั้นการบริหารองค์กรที่มีการแบ่งเป็นฝ่ายต่าง ๆ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อการจำแนกประเภท นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทย่อยได้อีก 9 ประเภท ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านความเป็นเจ้าของ ด้านทำเลที่ตั้ง ด้านขนาดพื้นที่ ด้านการกำหนดพื้นที่ใช้สอย และขอบเขตช่วงเวลา สามารถแบ่งเนื้อหาด้านการวางผังและออกแบบได้ 4 ประเด็น ได้แก่ สิ่งแวดล้อมและการเข้าถึง การกำหนดพื้นที่ใช้สอย ลักษณะการวางผัง และลักษณะการออกแบบภูมิทัศน์ โดยพบว่าไม่มีรูปแบบตายตัวซึ่งเป็นผลมาจากประเภทธุรกิจและภาพลักษณ์องค์กร ลำดับขั้นการบริหารจัดการองค์กร และลักษณะการออกแบบร่วมสมัย การวิจัยนี้นำมาซึ่งความเข้าใจพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมและสาขาที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำหรับองค์กร ภูมิสถาปนิก นักออกแบบวางผัง และหน่วยงานรัฐ ในการพัฒนาแนวคิดและนโยบายเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของที่ทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาภูมิทัศน์องค์กรในประเทศไทยในแนวทางที่เหมาะสมต่อไป