Abstract:
ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีความหนาแน่นมากขึ้น แต่กลับเผชิญปัญหาพื้นที่ทิ้งร้าง มีการใช้ประโยชน์ที่ดินในเมืองชั้นในอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หลายพื้นที่ถูกละเลย ปล่อยให้เสื่อมโทรม ว่างเปล่า ไม่เกิดการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเมือง งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ของพื้นที่ทิ้งร้างในกรุงเทพมหานครชั้นในในเชิงประจักษ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทิ้งร้างในกรุงเทพมหานครชั้นใน วิเคราะห์และสรุปแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงรวมถึงเสนอแนะแนวทางเพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เมืองอย่างเต็มศักยภาพ โดยมีคำถามงานวิจัยคือ พื้นที่ทิ้งร้างที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรูปแบบใดบ้าง และเหตุผลและแรงจูงใจในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ทิ้งร้างในกรุงเทพมหานครชั้นในคืออะไร
ผู้วิจัยได้ดำเนินการสำรวจรูปแบบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ทิ้งร้างในกรุงเทพมหานครชั้นใน โดยแบ่งขนาดของข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เป็น 3 กลุ่มเพื่อการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทิ้งร้างเปรียบเทียบกัน ได้แก่ โพลีกอนขนาดเล็ก มีพื้นที่ 1.5 – 5 ไร่ โพลีกอนขนาดกลาง มีพื้นที่ 5 -15 ไร่ โพลีกอนขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 15 - 30 ไร่ โดยใช้ข้อมูล GIS ในปี พ.ศ. 2558 ของ สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร เป็นฐาน และดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) ด้วยการสำรวจผ่าน Google Street View ว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใดบ้าง และมีความต่างกันระหว่างกลุ่มหรือไม่ ประกอบการสัมภาษณ์ประชากรกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ถือครองที่ดินในกรุงเทพมหานครชั้นในและ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้เชี่ยวชาญที่ดินที่เกี่ยวข้อง เพื่อสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึกและแนวโน้มรูปแบบการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ผลการศึกษาพบว่า ประมาณร้อยละ 50 ของพื้นที่ทิ้งร้างทั้งหมดไม่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน กล่าวคือ ยังคงมีสภาพเป็นพื้นที่ทิ้งร้างในปัจจุบัน สำหรับการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เกิดขึ้น พบว่า กลุ่มโพลีกอนขนาดเล็กมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่ากลุ่มโพลีกอนขนาดกลางและขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่ามาจากขนาดแปลงที่ดินที่จำกัด ทำให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อแสวงหาผลกำไรเกิดขึ้นยาก นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พบว่ากลุ่มโพลีกอนขนาดใหญ่ร้อยละ 22 ของพื้นที่ปลี่ยนแปลงเป็นเกษตรกรรมเป็นตัวเลขที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากช่วงเวลาที่ศึกษาได้บังคับใช้ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 แล้ว จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อหวังผลการลดหย่อนภาษีของพื้นที่ทิ้งร้างที่จะถูกจัดเก็บเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเป็นขั้นบันได ซึ่งแตกต่างกับการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบเกษตรกรรมที่จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่ามาก จึงนำมาสู่ข้อเสนอทางภาษีในด้านอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ควรแยกเป็นส่วนที่อยู่ในเมืองและนอกเมืองจัดเก็บด้วยอัตราที่ต่างกัน รวมไปถึงการสร้างข้อเสนอร่วมกับภาคเอกชน ให้พื้นที่ทิ้งร้างหรือพื้นที่รอการพัฒนาเหล่านี้มอบพื้นที่ให้กรุงเทพนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวต่อไป