Abstract:
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ว่า สัดส่วนของผู้รับผลประโยชน์ของนโยบายนี้ (ผู้ถือบัตร) เป็นคนไม่จนเกือบร้อยละ 90 ของผู้รับผลประโยชน์ทั้งหมด สะท้อนว่า นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีความคลาดเคลื่อนในการเจาะจงกลุ่มเป้าหมายจริง คือ คนจนไม่จริงได้รับประโยชน์ ในขณะที่คนจนจริงกลับไม่ได้รับประโยชน์ รวมถึง ยังไม่มีการติดตามและประเมินผลของนโยบายเชิงลึกในแง่ของพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่กำกับการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น และห้ามใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้าให้โทษหรือสินค้าฟุ่มเฟือย
การศึกษานี้จึงศึกษามาตรการการแจกเงินภายใต้นโยบายดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์อุปสงค์การบริโภคและคำนวณสวัสดิการเศรษฐกิจของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงศึกษาสวัสดิการเศรษฐกิจกรณีดำเนินนโยบายแบบจำกัดการบริโภคสินค้าให้โทษเทียบกับต้นทุนด้านสุขภาพจากการบริโภคสินค้าให้โทษ ผ่านแบบจำลอง LES (Linear Expenditure System) โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2562 ทั่วราชอาณาจักร จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐของผู้บริโภคสินค้าให้โทษจากข้อมูลการสำรวจภาคสนาม โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา
ผลการศึกษาชี้ว่า นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยเพิ่มสวัสดิการเศรษฐกิจสูงขึ้น เนื่องจากได้รับเงินช่วยเหลือผ่านบัตร การบริโภคจึงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขจำกัดการบริโภคสินค้าให้โทษทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจของผู้ถือบัตรสูญหายไปบางส่วน ซึ่งชดเชยได้ด้วยความสูญเสียทางสุขภาพที่ลดลง แม้โดยรวม ความสูญเสียทางสุขภาพที่ลดลง (275.01 ล้านบาทต่อปี) มีมูลค่าน้อยกว่าสวัสดิการทางเศรษฐกิจที่สูญหาย (389.38 ล้านบาทต่อปี) แต่มูลค่าสวัสดิการทางเศรษฐกิจที่สูญหายของกลุ่มบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ (40.52 ล้านบาทต่อปี) น้อยกว่าความสูญเสียทางสุขภาพที่ลดลง (58.38 ล้านบาทต่อปี) นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้บริโภคสินค้าให้โทษทั้ง 2 ประเภทที่ถือบัตรมีพฤติกรรมสลับกระเป๋าเงินอย่างชัดเจน คือ บริโภคทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มขึ้น แสดงว่า การจำกัดการบริโภคสินค้าให้โทษมิอาจควบคุมการบริโภคสินค้าให้โทษได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่เสพติดสินค้าให้โทษ หรือบริโภคสินค้าให้โทษเป็นประจำ