Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาเครื่องมือการรายงานผลเกี่ยวกับภาวะสุขภาพด้วยตนเองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (PROMs-TCP) และทดสอบความตรงและความเที่ยงของเครื่องมือ PROMs-TCP 2) การพยากรณ์สถานะสุขภาพด้วยแบบจำลอง Markov
การศึกษาประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การพัฒนาเครื่องมือใช้เทคนิคการทบทวนวรรณกรรม ร่วมกับการประชุมกลุ่มย่อย ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มพยาบาลที่ปฏิบัติงานในคลินิกดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และทดสอบความถูกต้องของเนื้อหาโดยการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ 2) การทดสอบความตรงและความเชื่อถือได้ของเครื่องมือ โดยเก็บข้อมูลนาน 10 วัน ในอาสาสมัคร จำนวน 169 ราย ตรวจสอบความถูกต้องตามเกณฑ์ ความตรงเชิงจำแนก ความไวต่อการเปลี่ยนแปลง และความน่าเชื่อถือภายในและภายนอก 3) การพยากรณ์สถานะสุขภาพด้วยแบบจำลอง Markov
ผลการศึกษาพบว่า เครื่องมือประเมินคุณภาพชีวิตโดยผู้ป่วยหรือผู้ดูแลเพื่อการบริบาลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย หรือเครื่องมือการรายงานผลเกี่ยวกับภาวะสุขภาพด้วยตนเองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (PROMs-TCP) ประกอบด้วย 6 ข้อคำถาม ความถูกต้องของเนื้อหารายข้อคำถาม (I-CVI) อยู่ระหว่าง 0.8 ถึง 1 และความถูกต้องของแบบสอบถามทั้งฉบับ (S-CVI) เท่ากับ 0.97 ความสัมพันธ์ระหว่าง PROMs-TCP และ Palliative care Outcome Scale (POS) อยู่ในระดับปานกลางถึงสูง (r = -0.7 ถึง -0.8) เครื่องมือ PROMs-TCP มีจุดตัดที่ 4 คะแนน คัดกรองสถานะสุขภาพไม่ดี ภายใต้พื้นที่ใต้โค้ง Receiver Operating Characteristic (ROC) เท่ากับ 0.91 (95% CI 0.90, 0.93) ความไวร้อยละ 76.91 ความจำเพาะร้อยละ 88.67 การทดสอบความเชื่อถือได้ของเครื่องมือ พบว่ามีความสอดคล้องภายในอยู่ในระดับดี ค่า Cronbach’s alpha coefficient = 0.85 ความสอดคล้องภายนอกระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล และระหว่างผู้ป่วยกับพยาบาลที่ให้การดูแล อยู่ในระดับปานกลางถึงดี (Cohen's Weighted Kappa = 0.76 ถึง 0.83) และการเปลี่ยนแปลงของคะแนนในแต่ละช่วง T0-T1 ระหว่าง PROMs-TCP กับ POS มีความสัมพันธ์เชิงบวกระดับปานกลาง โดยมีค่า r ระหว่าง 0.5 - 0.7 และมีขนาดของการเปลี่ยนแปลงทั้งแบบประเมิน PROMs-TCP และ POS อยู่ในระดับต่ำ Effect size (ES) = 0.36 และ 0.33 ตามลำดับ การพยากรณ์สถานะสุขภาพด้วยแบบจำลอง Markov พบว่ากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองที่บ้านจะเสียชีวิตเร็วกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลที่โรงพยาบาล แต่มีคุณภาพชีวิตดีกว่า สรุป เครื่องมือ PROMs-TCP มีความเหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง