Abstract:
ศึกษาความว้าเหว่ของเยาวชนหญิงที่กระทำผิดกฎหมาย โดยการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ข้อมูลเชิงปริมาณได้จากกลุ่มตัวอย่างเยาวชนหญิง ที่กระทำผิดกฎหมายในสถานฝึกอบรมและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จำนวน 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบวัดความว้าเหว่า และแบบวัดการปรับตัวด้านครอบครัว วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวและสองทาง และเปรียบเทียบพหุคูณด้วยวิธีการ Dunnett's T3 และหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ข้อมูลเชิงคุณภาพได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกเยาวชนที่มีคะแนนความว้าเหว่สูง และค่อนข้างสูงจำนวน 11 คนที่คัดเลือกมาจากกลุ่มตัวอย่าง 100 คนของการวิจัยเชิงปริมาณ ผลการวิจัยพบว่า 1) เยาวชนหญิงที่กระทำผิดกฎหมายโดยทั่วไป มีความว้าเหว่ในระดับค่อนข้างต่ำและมี่การปรับตัวด้านครอบครัวค่อนข้างดี 2) เยาวชนที่มีการปรับตัวด้านครอบครัวได้ค่อนข้างดีและค่อนข้างไม่ดี มีความว้าเหว่สูงกว่าเยาวชนที่มีการปรับตัวด้านครอบครัวดี 3) เยาวชนที่มีการย้ายถิ่นฐานมีความว้าเหว่มากกว่าเยาวชนที่ไม่ได้ย้ายถิ่นฐาน 4) เยาวชนที่เคยคิดฆ่าตัวตายมีความรู้สึกว้าเหว่มากกว่าเยาวชนที่ไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย 5) เยาวชนหญิงที่กระทำผิดกฎหมายที่มีระดับอายุ อาชีพของบิดามารดา ระดับการศึกษา สถานภาพการสมรส ภูมิหลังทางครอบครัว ลักษณะของการกระทำผิด และจำนวนครั้งที่กระทำผิดและถูกจับกุมแตกต่างกันมีความว้าเหว่ไม่แตกต่างกัน 6) ความว้าเหว่าและการปรับตัวด้านครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางลบ 7) เยาวชนหญิงที่กระทำผิดกฎหมายที่มีความว้าเหว่าสูงและค่อนข้างสูง มีลักษณะแบบแผนทางอารมณ์ ทางความคิดและทางพฤติกรรมค่อนข้างเป็นไปในทางลบ โดยรายงานว่า มีความรู้สึกทุกข์ใจ ความรู้สึกโดดเดี่ยว ความรู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากอดทน ขาดสัมพันธภาพที่ต้องการ รู้สึกสงสารตนเอง มองตนเองและผู้อื่นในทางลบ และมีลักษณะแยกตัวออกจากสังคม และพบบ้างที่มีความรู้สึกไม่มีอิสระ มีความกังวลใจ รู้สึกขาดบางสิ่งบางอย่าง รู้สึกว่าไม่มีคนเข้าใจ คิดว่าตนเองล้มเหลวทางด้านสังคม และมีความรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง และผู้ที่มีความว้าเหว่าเผชิญกับความว้าเหว่ โดยใช้กลวิธีการหาทางผ่อนคลาย แสวงหาการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และหลีกหนีปัญหาโดยเก็บความรู้สึกไว้คนเดียว ไม่แก้ปัญหาและไม่ค่อยได้ใช้การแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม