Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุก ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และความสัมพันธ์ระหว่างผลการใช้ Quick Exposure Check (QEC) กับอาการผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกโครงร่าง (Musculoskeletal discomfort, MSD) ในคนงานโรงงานอาหารทะเลแช่แข็งแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม กลุ่มตัวอย่างคือคนงานที่ทำงานฝ่ายการผลิตที่ได้รับการคัดเข้าทั้งหมด จำนวน 524 คน โดยไม่ได้ทำการสุ่ม เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามทั่วไป แบบสอบถามมาตรฐานนอร์ดิก และแบบประเมินการสัมผัสอย่างรวดเร็ว (QEC) ฉบับแปลภาษาไทย ซึ่งผู้วิจัยและล่ามสื่อภาษาได้ทำการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างด้วยตนเองทั้งหมด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติ Multiple logistic regression
ผลการศึกษาพบว่าความชุกของ MSD ในกลุ่มตัวอย่างในระยะเวลา 7 วัน 12 เดือน และในระยะเวลา 12 เดือนที่มีผลกระทบต่อการทำงาน คือ ร้อยละ 36.83 55.34 และ 26.90 ตามลำดับ โดยมีความชุกสูงที่สุดที่บริเวณหลังส่วนล่าง รองลงมาคือบริเวณไหล่ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับ MSD ได้แก่ การมีระดับการศึกษาสูง รายได้ที่เพิ่มขึ้น การมีโรคประจำตัว มีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ และตำแหน่งหน้าที่ในการทำงานที่มีรูปแบบการทำงานซ้ำๆ ได้แก่ แล่และสไลด์ ตัดแต่งและแปรรูปวัตถุดิบ บรรจุสินค้า และผลการประเมินด้วย QEC พบว่ามีความสัมพันธ์กับ MSD แบบผกผันบริเวณหลัง ไหล่ ศอก และข้อมือ/มือ
โดยสรุปคนงานที่ทำงานฝ่ายการผลิตโรงงานอาหารทะเลแช่แข็งมีความชุกของ MSD ค่อนข้างสูง แต่น้อยกว่าในการศึกษาอื่นเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุน้อยที่มีสุขภาพแข็งแรง และผลการประเมินปัจจัยด้านการยศาสตร์มีความเสี่ยงระดับสูงและสูงมาก ในทุกตำแหน่งหน้าที่การทำงาน ดังนั้นควรมีการให้ความรู้และปรับสภาพการทำงานนั้นแก่คนงาน