Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสุขภาพจิตและปัจจัยที่สัมพันธ์กับสุขภาพจิตของพนักงานบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคแห่งหนึ่ง ระหว่างการระบาดของโควิด-19 กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานบริษัทอุปโภคบริโภคแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จำนวน 127 คน โดยส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังพนักงานบริษัทแห่งนี้ที่มีลักษณะตามเกณฑ์การคัดเข้า และได้รับชุดข้อมูลตอบกลับที่มีความสมบูรณ์ จำนวน 124 ชุด คิดเป็นร้อยละ 97.64 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2565 โดยข้อมูลที่ได้รับเก็บรวบรวมด้วยแบบสอบถามทั้งหมด 3 ส่วน ประกอบด้วย แบบสอบถามปัจจัยส่วนบุคคล แบบสอบถามปัจจัยด้านการทำงาน แบบสอบถามความสุขใจในการทำงาน และแบบสอบถามวัดภาวะสุขภาพจิต 3 ด้าน (DASS-21) คือ ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และความเครียด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด และค่าสูงสุด วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปรด้วยสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Chi-square test, Fisher’s exact test, Pearson’s correlation, และ Logistic regression เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตของพนักงานบริษัทแห่งนี้ และตัวแปรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง 124 คน พบว่า พนักงานบริษัทแห่งนี้มีภาวะสุขภาพจิตอยู่ในระดับปกติ โดยที่หนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพจิตในทุกระดับ ได้แก่ ภาวะวิตกกังวล ร้อยละ 30.6 ภาวะซึมเศร้าร้อยละ 29.0 และความเครียด 25.8 สำหรับการศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิต พบว่าเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อารมณ์และความรู้สึกต่อสถานการณ์โควิด-19 การทำงาน ความสุขใจในการทำงาน ความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายของครอบครัว ความต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์ และการใช้ยานอนหลับในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) สำหรับการวิเคราะห์ถดถอยเพื่อศึกษาปัจจัยทำนายปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) พบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์โควิด-19 เช่น ความรู้สึกสิ้นหวัง ความรู้สึกหดหู่ ความรู้สึกโกรธ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น มีความพึงพอใจในระดับต่ำเกี่ยวกับการประเมินผลงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีความพึงพอใจระดับต่ำต่อความรับผิดชอบที่ได้รับในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีความสุขใจในการทำงานต่ำ และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีส่วนในการทำนาย เช่น เคยใช้ยานอนหลับในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สามารถทำนายภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลได้ ส่วนการแสวงหาหรือต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์สามารถทำนายความเครียดได้ ผลจากการศึกษานี้จะช่วยให้พนักงานที่ทำงานที่บ้านรวมถึงหัวหน้างานได้ตระหนักถึงผลกระทบทางสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19