Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาภาคตัดขวาง วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรอบรู้ด้านอาชีวอนามัย และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรอบรู้ด้านอาชีวอนามัยของบุคลากรในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างคือบุคลากรในโรงพยาบาล จำนวน 415 คน คัดเลือกด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิตามสัดส่วนของตำแหน่งงาน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบประเมินความรอบรู้ด้านอาชีวอนามัยของบุคลากรในโรงพยาบาลแบบตอบด้วยตนเอง ซึ่งได้รับการตรวจสอบคุณภาพโดยการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาด้วยวิธีการหาค่าดัชนีความสอดคล้อง มีคะแนนอยู่ในช่วง 0.60-1.00 และการตรวจสอบความเชื่อมั่นด้วยการหาสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค พบความเชื่อมั่นรายด้านอยู่ที่ 0.81-0.93 และทั้งฉบับอยู่ที่ 0.96 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรอบรู้ด้านอาชีวอนามัยอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 72.41 รายด้านที่มีคะแนนสูงที่สุดคือการจัดการสุขภาพของตนเองด้านอาชีวอนามัย (ร้อยละ 74.53) และรายด้านที่คะแนนน้อยที่สุดคือทักษะการสื่อสารข้อมูลด้านอาชีวอนามัย (ร้อยละ 67.27) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรอบรู้ด้านอาชีวอนามัยที่ดี ได้แก่ เพศหญิง (p-value=0.011) อายุไม่เกิน 45 ปี (p-value<0.001) ไม่มีการทำงานเป็นกะหรือทำงานล่วงเวลา (p-value=0.029) มีประวัติการอบรมด้านอาชีวอนามัย (p-value=0.002) มีนโยบายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (p-value<0.001) และมีการสนับสนุนที่ดีจากหน่วยงาน (p-value=0.011) โดยสรุปการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านอาชีวอนามัยให้กับกลุ่มบุคลากรในโรงพยาบาลควรเน้นเรื่องทักษะการสื่อสารข้อมูลด้านอาชีวอนามัย การจัดบริการด้านอาชีวอนามัยให้เหมาะสมกับกลุ่มบุคลากร การจัดอบรมการวางแผนงานนโยบายด้านอาชีวอนามัย รวมถึงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรสามารถพัฒนาสมรรถนะการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ