Abstract:
การศึกษาผลของการทำกิจกรรมสร้างสุขเพื่อการดูแลตัวเองของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเปรียบเทียบคะแนนความสุข คุณภาพชีวิตของนักสังคมสงเคราะห์ และความเครียดของนักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อน ระหว่าง และหลังเข้าร่วมกิจกรรม จากกลุ่มตัวอย่าง 31 คน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน 2565 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความสุข แบบประเมินคุณภาพชีวิตของนักสังคมสงเคราะห์ แบบประเมินความเครียดฉบับสวนปรุง และกิจกรรมสร้างสุขทั้งหมด 6 กิจกรรม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS และ Stata สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ สถิติเชิงพรรณนาเพื่ออธิบายลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง อาทิ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุดจากที่ทำการศึกษา และใช้สถิติเชิงอนุมานเพื่อทดสอบสมมติฐาน Repeated measure ANOVA เพื่อวิเคราะห์ความแปรปรวน ภายในกลุ่มก่อน ระหว่างและหลังการทดลอง นอกจากนี้จะใช้ Multiple Linear Regression เพื่อหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความสุข
ผลศึกษาพบว่า กิจกรรมสร้างสุขครั้งนี้ยังไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อผลของความสุข คุณภาพชีวิตของนักสังคมสงเคราะห์ และความเครียด ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเข้าร่วมกิจกรรมมากนัก พบว่ากลุ่มตัวอย่าง มีคะแนนความสุขส่วนบุคคลรวม 9 มิติ อยู่ในเกณฑ์มีความสุข มีคะแนนคุณภาพชีวิตของนักสังคมสงเคราะห์อยู่ในระดับปานกลาง และมีความเครียดอยู่ในระดับสูง โดยค่าคะแนนก่อนเริ่มกิจกรรมแต่ละมิติของตัวแปรสามารถทำนายผลของมิตินั้น ๆ ในทิศทางบวก (p<0.001) อีกทั้งตัวแปร อายุ เพศ มีงานอดิเรกทำ และจำนวนครั้งในการเข้าร่วมกิจกรรม สามารถทำนายมิติย่อยของความสุข คุณภาพชีวิตและความเครียด (p<0.05)