Abstract:
อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เป็นส่วนสำคัญในระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทย องค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำหนึ่งในข้อพิจารณาสำหรับใช้ในการคัดเลือก อสม. คือ ทุนทางสังคม การศึกษาเชิงพรรณนาแบบตัดขวางนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ระดับทุนทางสังคมทั้ง 3 มิติ ประกอบด้วย 1) ทุนทางสังคมภายนอก 2) กิจกรรมทางสังคม และ 3) ทุนทางสังคมภายใน ของ อสม. ในจังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับทุนทางสังคม โดยใช้แบบสอบถามที่พัฒนาขึ้น ผลการศึกษา อสม. ในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมการศึกษานี้ 778 คน (อัตราตอบกลับร้อยละ 79.5) การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกแบบหลายกลุ่ม เมื่อควบคุมปัจจัยอื่น ๆ แล้ว พบว่า 1) ทุนทางสังคมภายนอก มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ ผู้ที่อาศัยนอกเขตเทศบาล OR 2.28 (95%CI 1.43 – 3.65) มีรายได้เพียงพอและมีเงินเก็บ OR 2.50 (95%CI 1.54 – 4.06) อายุ (ปี) OR 1.03 (95%CI 1.01 – 1.05) ความถี่ของ อสม. ในการได้รับคำแนะนำหรือประชุมงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มากขึ้น โดยเดือนละ 1 ครั้งขึ้นไป OR 3.99 (95%CI 2.44 – 6.54) และระยะเวลาที่เข้ามาเป็น อสม. (ปี) OR 1.04 (95%CI 1.01 – 1.06) 2) กิจกรรมทางสังคม มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงข้ามกับผู้ที่อาศัยนอกเขตเทศบาล OR 0.49 (95%CI 0.30 – 0.79) และ ระยะเวลาที่อาศัยในชุมชนที่เพิ่มขึ้น OR 0.98 (95%CI 0.97 – 0.99) แต่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป OR 2.38 (95%CI 1.12 – 5.07) 3) ทุนทางสังคมภายใน มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้ที่อาศัยนอกเขตเทศบาล OR 2.37 (95%CI 1.08 – 5.17) และผู้มีรายได้เพียงพอและมีเงินเก็บ OR 3.17 (95%CI 1.53 – 6.55) และผู้ที่มีการปฏิบัติงาน อสม. ระดับสูง มีความสัมพันธ์กับระดับทุนทางสังคมที่ดีทั้ง 3 มิติ ดังนั้นการส่งเสริมสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยเชิงบวกต่อทุนทางสังคม โดยเฉพาะ สถานภาพทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา รวมถึงการได้รับคำแนะนำหรือประชุมงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นประเด็นที่ควรพิจารณาสำหรับนโยบายในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม.