Abstract:
ในปัจจุบันประเทศไทยได้นำค่าปรับทางแพ่งซึ่งเป็นแนวคิดทางกฎหมายที่มีต้นแบบมาจากต่างประเทศมาบัญญัติบังคับใช้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 แล้ว โดยค่าปรับทางแพ่งถือเป็นมาตรการที่ช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำให้จำนวนผู้กระทำความผิดลดลง การลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการบังคับใช้กฎหมายให้แก่รัฐ การทำให้มีการดำเนินคดีได้เร็วขึ้นและสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้มากขึ้น แต่บทบัญญัติในการบังคับใช้ค่าปรับทางแพ่งของกฎหมายไทยในปัจจุบันยังขาดการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงการดำเนินการทางศาลเพื่อการพิสูจน์ความผิดและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานซึ่งแตกต่างกับการบังคับใช้ค่าปรับทางแพ่งในต่างประเทศ การบังคับใช้ค่าปรับทางแพ่งจึงเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งประสงค์เพื่อศึกษาถึงประเด็นปัญญาหาของการนำค่าปรับทางแพ่งมาบังคับใช้ในกฎหมายไทย โดยจะศึกษาถึงแนวคิดทฤษฎีของค่าปรับทางแพ่ง เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการลงโทษทางการเงินหรือค่าปรับในสาขากฎหมายอื่นของไทย ต่อมาจะศึกษาถึงหลักเกณฑ์การบังคับใช้ค่าปรับทางแพ่งในกฎหมายต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย และประเทศฝรั่งเศส เพื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการบังคับใช้ค่าปรับทางแพ่งในกฎหมายไทย จากนั้นจึงจะศึกษาถึงประเด็นปัญหาเชิงทฤษฎีและปัญหาเชิงปฏิบัติเมื่อมีการนำค่าปรับทางแพ่งมาบังคับใช้ในกฎหมายไทย เพื่อให้ทราบถึงประเด็นปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังศึกษาถึงผลลัพธ์ที่เกิดจากการนำค่าปรับทางแพ่งมาบังคับใช้ในกฎหมายไทยอีกด้วย
จากการศึกษาถึงการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย พบว่า การบังคับใช้ค่าปรับทางแพ่งของไทยยังมีปัญหาในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาทั้งในชั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐและในชั้นศาล รวมถึงการดำเนินการทางศาลเพื่อการพิสูจน์ความผิดและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานนั้นยังไม่สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาได้อย่างเพียงพอ แต่เมื่อได้ศึกษาถึงกฎหมายต่างประเทศและคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย และประเทศฝรั่งเศส พบว่า ในแต่ละประเทศนั้นมีหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาสำหรับการบังคับใช้ค่าปรับทางแพ่งที่แตกต่างกันไป โดยมีทั้งกรณีการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในชั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐและในชั้นศาล ส่วนการดำเนินการทางศาลเพื่อการพิสูจน์ความผิดและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลียนั้น ศาลจะพิจารณาคดีและวางหลักกฎหมายโดยใช้มาตรฐานการพิสูจน์ที่สูงกว่าการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป แต่ไม่ถึงขนาดมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีอาญา เพราะต้องการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา ในขณะที่ ประเทศฝรั่งเศสจะใช้มาตรฐานการพิสูจน์ที่สูงเทียบเท่ากับมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีอาญา
เมื่อนำหลักเกณฑ์การบังคับใช้ค่าปรับทางแพ่งในต่างประเทศมาพิจารณา พบว่า หลักเกณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศออสเตรเลียนั้นมีความเหมาะสมกับลักษณะของความผิดที่ถูกกำหนดค่าปรับทางแพ่งในกฎหมายไทย ส่วนหลักเกณฑ์ของประเทศฝรั่งเศสยังไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาบังคับใช้ในกฎหมายไทย ผู้เขียนจึงเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในชั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น สิทธิที่จะได้รับการแจ้งผลกระทบต่อสิทธิ และหลักการรับฟังคู่กรณี เป็นต้น และกำหนดหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองสิทธิของจำเลยในชั้นศาล เช่น สิทธิการห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง และหลักการตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด เป็นต้น อีกทั้ง ในการดำเนินการทางศาลเพื่อการพิสูจน์ความผิดและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานนั้น ควรกำหนดให้ใช้มาตรฐานการพิสูจน์ที่สูงกว่าการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป แต่ไม่ถึงขนาดมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีอาญา ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับการคุ้มครองสิทธิ และเพื่อให้การบังคับใช้ปรับทางแพ่งในกฎหมายไทยเกิดความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น