Abstract:
การปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมถือเป็นข้อบทสำคัญที่มักจะปรากฏในความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการลงทุน และเป็นที่ยอมรับกันว่าภายใต้ข้อบทดังกล่าวรัฐผู้รับการลงทุนจะต้องให้การคุ้มครองความคาดหวังอันชอบธรรมของนักลงทุนหรือการลงทุนของรัฐภาคี อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ มีปัญหาในการตีความและการปรับใช้การคุ้มครองความคาดหวังอันชอบธรรมของนักลงทุน โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน ในประเด็นของความสมดุลระหว่างการคุ้มครองนักลงทุนหรือการลงทุนกับการใช้สิทธิในการกำกับดูแลของรัฐ เนื่องจากการลงทุนในกิจการพลังงานหมุนเวียนรัฐมักจะมีกฎหมายส่งเสริมการลงทุนในกิจการดังกล่าว โดยให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนอย่างเฉพาะเจาะจง นักลงทุนจึงมีความคาดหวังในความมั่นคงของกฎหมายและผลตอบแทนจากการลงทุน ในขณะเดียวกันรัฐมีสิทธิการกำกับดูแลและออกกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป คณะอนุญาโตตุลาการที่จึงมีบทบาทสำคัญในการวางหลักเกณฑ์และองค์ประกอบของการให้การคุ้มครองความคาดหวังอันชอบธรรมของนักลงทุน ตลอดจนการสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองความคาดหวังของนักลงทุนกับสิทธิในการกำกับดูแล
ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีที่เกี่ยวกับการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้ทราบหลักเกณฑ์ที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ในการตีความและการปรับใช้การคุ้มครองความคาดหวังอันชอบธรรมของนักลงทุน จากการศึกษา ผู้วิจัยพบว่าคณะอนุญาโตตุลาการได้ทำให้หลักเกณฑ์ในการคุ้มครองความคาดหวังอันชอบธรรมของนักลงทุนมีความชัดเจนมากขึ้นว่าความคาดหวังอันชอบธรรมของนักลงทุนบนพื้นฐานของกรอบทางกฎหมายจะได้รับความคุ้มครองจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายอย่างสิ้นเชิงหรือทำลายผลตอบแทนอย่างสมเหตุสมผลของนักลงทุน แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐผู้รับการลงทุนได้แสดงออกอย่างเฉพาะเจาะจงแก่นักลงทุน นักลงทุนอาจคาดหวังได้ว่ากฎหมายจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการยังคงไม่ลงรอยกันในประเด็นที่ว่าการแสดงออกในรูปแบบกฎหมายที่ให้สิทธิประโยชน์ถือเป็นแสดงออกอย่างเฉพาะเจาะจงของรัฐผู้รับการลงทุนหรือไม่