Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษากฎหมายเกี่ยวกับเด็กที่ถูกทอดทิ้งที่ปรากฏอยู่ในระบบกฎหมายของไทย โดยศึกษาประกอบกับการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กที่ถูกทอดทิ้งในสถานสงเคราะห์ เพื่อศึกษาว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีการคุ้มครองเด็กที่ถูกทอดทิ้งในมิติของกฎหมายครอบครัวอย่างเพียงพอแล้วหรือไม่ โดยศึกษานิยามความหมายของเด็กที่ถูกทอดทิ้งว่าควรกำหนดกรอบให้ชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ และตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ควรกำหนดให้การทอดทิ้งบุตรเป็นหนึ่งในเหตุแห่งการถอนอำนาจปกครองของบิดามารดาตามมาตรา 1582 หรือไม่ อีกทั้ง ควรกำหนดข้อยกเว้นเรื่องที่บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาในมาตรา 1563 กรณีที่บิดามารดาทอดทิ้งบุตรหรือไม่ ทั้งนี้ทุก ๆ ประเด็น ศึกษาภายใต้กรอบความคิดเรื่องประโยชน์สูงสุดของเด็ก (The Best Interest of the Child) ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ใช้เพื่อออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองเด็ก
จากการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และประเทศญี่ปุ่น พบว่าในประเด็นนิยามความหมายมีการบัญญัติไว้สองลักษณะ คือ การบัญญัติความหมายไว้โดยตรง และการบัญญัติความหมายไว้โดยอ้อม ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทยควรบัญญัตินิยามความหมายของเด็กที่ถูกทอดทิ้งให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในสังคม ส่วนในประเด็นเรื่องการถอนอำนาจปกครองด้วยเหตุแห่งการทอดทิ้งบุตรนั้น ผู้เขียนได้เสนอให้มีการบัญญัติเพิ่มเติมให้การทอดทิ้งบุตรเป็นหนึ่งในเหตุที่ศาลอาจถอนอำนาจปกครองของบิดามารดาตามมาตรา 1582 ได้ โดยนำหลักกฎหมายเรื่องการถอนอำนาจปกครองโดยแบ่งเป็นการระงับอำนาจปกครองแบบชั่วคราวก่อนจะนำไปสู่การถอนอำนาจปกครองของประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้ และในประเด็นเรื่องการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ผู้เขียนเสนอให้กรณีที่บิดามารดาทอดทิ้งบุตรเป็นข้อยกเว้นของหน้าที่ดังกล่าวตามมาตรา 1563 ทั้งนี้ การเสนอแก้ไขกฎหมายในประเด็นต่าง ๆ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก (The Best Interest of the Child) ที่เด็กทุกคนควรได้รับการคุ้มครอง