Abstract:
การดำเนินกิจกรรมอวกาศก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผลในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน รวมถึงกฎหมายไม่ว่ากฎหมายที่ใช้ในประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความต้องการอันจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและจัดระเบียบสังคม จึงต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐนั้น ๆ ได้เข้าร่วมเป็นภาคี และพัฒนาตามความเจริญก้าวหน้าของการดำเนินกิจกรรมอวกาศ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาหลักกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศของสนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอกรวมทั้งดวงจันทร์และเทหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ค.ศ. 1967 ในสองประเด็น กล่าวคือ ประเด็นแรก การอนุญาตและการกำกับดูแลในการดำเนินกิจกรรมอวกาศ ประกอบด้วย การอนุญาต การกำกับดูแลและการควบคุม การโอนสิทธิให้บุคคลที่สาม และประเด็นที่สอง ความรับผิดในการดำเนินกิจกรรมอวกาศ ประกอบด้วย มาตรฐานความปลอดภัย ความรับผิด การประกันภัย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายภายในด้านอวกาศรองรับเรื่องของการดำเนินกิจกรรมอวกาศเป็นการเฉพาะ มีเพียงร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ... เท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้มีการประกาศใช้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาการกำกับดูแลตามพันธกรณีของสนธิสัญญานี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะของรัฐภาคีได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องมากยิ่งขึ้น
จากการศึกษาพบว่า กฎหมายภายในของประเทศไทยที่มีอยู่ ไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมอวกาศ และสำหรับร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ... แม้จะมีการกำหนดไว้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอให้กับผู้ประกอบการหรือผู้ที่ดำเนินกิจกรรมอวกาศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางในการจัดทำกฎหมายภายในของประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตและการกำกับดูแลในการดำเนินกิจกรรมอวกาศ และความรับผิดในการดำเนินกิจกรรมอวกาศซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ให้มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยแนวทางในการศึกษานอกจากจะศึกษากฎหมายระหว่างประเทศและสนธิสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อให้ทราบถึงแนวทางในการออกกฎหมายและทิศทางเศรษฐกิจในการดำเนินกิจกรรมอวกาศในปัจจุบันที่ได้รับความสนใจและมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว