Abstract:
ปัจจุบันการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะการลงทุนเพื่อหากำไร และกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรตีความคริปโทเคอร์เรนซีเป็นบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความไม่เหมาะสมหลายประการ ปัญหาประการสำคัญ คือ ด้วยลักษณะเฉพาะของคริปโทเคอร์เรนซีไม่อาจตีความเป็นสินค้าหรือบริการภายใต้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มได้ อีกทั้ง กระบวนการในทางปฏิบัติบางประการของกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มไม่อาจบังคับใช้กับธุรกรรมการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีได้จริง เช่น การออกใบกำกับภาษี นอกจากนั้นลักษณะของการซื้อขายคริปโทเคอร์ซีไม่ใช่การเพิ่มมูลค่าในแต่ละขั้นการผลิต การจำหน่าย หรือการให้บริการซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ธุรกรรมการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีเป็นธุรกรรมที่กระทำผ่านตัวกลางทำให้ไม่สามารถการระบุตัวตนของผู้ซื้อและผู้ขาย ส่งผลให้การบังคับและตรวจสอบผู้ประกอบการเพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรวมถึงการออกเอกสารทางภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปได้ยาก วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาปัญหาความไม่เหมาะสมอันเกิดจากการตีความคริปโทเคอร์เรนซีให้อยู่ภายใต้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทย และพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีบริโภคประเภทอื่นที่อาจมีความเหมาะสมมากกว่า และจากการศึกษา ผู้เขียนเห็นว่าหากพิจารณาให้ธุรกรรมการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีอยู่ภายใต้ระบบภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีเป็นรายธุรกรรม (transaction tax) จะมีความเหมาะสมมากว่า จึงมีข้อเสนอแนะให้ธุรกรรมการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีอยู่ภายใต้ระบบภาษีธุรกิจเฉพาะ