Abstract:
งานวิจัยเชิงสร้างสรรค์หัวข้อ ศิลปะภาพถ่าย: อัตลักษณ์บนเรือนร่าง มีวัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะผ่านการหยิบยืมภาษาและวิธีการแสดงออกจากผลงานศิลปะป๊อป อาร์ต (Pop Art) และกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะกลุ่ม เดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น (The Pictures Generation) และ2. เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่นำอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากสินค้าบนเรือนร่าง มาใช้ในการสำรวจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบความหมายและคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแบรนด์ ที่มีบทบาทความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมบริโภคร่วมสมัย
การสร้างสรรค์ผลงานมีกรอบคิดมาจากการทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมบริโภคแบรนด์ และวัฒนธรรมทางสายตา นำมาสู่แนวความคิดในการใช้อัตลักษณ์ที่มองเห็นได้ (graphical identity) ของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาแสดงออกทางศิลปะ ภายใต้เนื้อหาที่กำหนดขึ้นจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่ผู้วิจัยพบเห็นในชีวิตประจำวัน และการลงพื้นที่สำรวจตลาดนัดกลางคืนเซฟวัน จังหวัดนครราชสีมา แนวทางการสร้างสรรค์ผลงานเป็นรูปแบบการหยิบยืม (Appropriation) ภาษาและวิธีการแสดงออกทางศิลปะจากป๊อป อาร์ต (Pop Art) และกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะกลุ่ม เดอะ พิคเจอร์ส เจเนอเรชั่น (The Pictures Generation) ซึ่งมีส่วนช่วยในการสื่อสารเนื้อหาและถ่ายทอดแนวคิด จากกระบวนการสร้างสรรค์ทำให้ได้ผลงานศิลปะจากสื่อภาพถ่ายและโปรแกรมตกแต่งภาพในคอมพิวเตอร์ จำนวน 4 ชุด โดยผลงานได้สะท้อนและเน้นย้ำให้เห็นถึงสาระสำคัญเกี่ยวกับกลิ่นอาย (aura) ของแบรนด์ที่ปรากฏขึ้นในการรับรู้ผ่านการทำงานของ รูปร่าง รูปทรง สี ตัวอักษร ตลอดจนลวดลายบางอย่าง เผยให้เห็นแง่มุมความสัมพันธ์กับรูปแบบการใช้เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่มีรูปลักษณ์ให้การสื่อสารถึงแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในบริบทของสังคมไทยที่คุ้นชิน นอกจากนี้ จากกระบวนการสร้างสรรค์ทำให้ได้ข้อค้นพบจากการนำสีอัตลักษณ์ของแบรนด์มาแสดงออก ซึ่งให้ผลทางการรับรู้แตกต่างไปจากรูปแบบผลงานศิลปะแนวนามธรรมที่มักอิงอยู่กับการรับรู้ตามหลักทฤษฎีสีหรือจิตวิทยาสี แสดงให้เห็นถึงการขยายขอบเขตการแสดงออกด้วยสีในงานศิลปะที่เชื่อมโยงอยู่กับวัฒนธรรมบริโภคและการรับรู้ต่ออัตลักษณ์ของแบรนด์