Abstract:
เศรษฐกิจขี้เกียจเป็นธุรกิจแนวใหม่ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ต้องการความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต สามารถเก็บแรงหรือเวลาไว้ไปทำอย่างอื่นได้ ถือเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจที่เป็นกระแสสำคัญในปัจจุบันนี้คือ ธุรกิจบริการส่งอาหาร (Food Delivery) ทว่าธุรกิจนี้ยังมีช่องว่างทางการตลาดที่ยังไม่คลอบคลุมพฤติกรรมของคนไทยบางส่วนที่ยังคงต้องการความสะดวกสบายมากกว่าเดิม งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการออกแบบเรขศิลป์สำหรับเศรษฐกิจขี้เกียจ กรณีศึกษาธุรกิจบริการส่งอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อหากลยุทธ์สำหรับธุรกิจในเศรษฐกิจขี้เกียจ กรณีศึกษาธุรกิจบริการส่งอาหาร 2) เพื่อหาแนวทางการออกแบบแอปพลิเคชันสำหรับเศรษฐกิจขี้เกียจ กรณีศึกษาธุรกิจบริการส่งอาหาร 3) เพื่อหาแนวทางการออกแบบโฆษณาสำหรับเศรษฐกิจขี้เกียจ กรณีศึกษาธุรกิจบริการส่งอาหาร โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพรูปแบบ Practice Based Research ในการทำงานสร้างสรรค์โดยให้การปฏิบัติเป็นเครื่องมือนำไปสู่ความรู้ใหม่ การวิจัยครั้งนี้มี 2 ด้านที่ผู้วิจัยศึกษา คือ 1. ด้านการออกแบบแอปพลิเคชัน 2. ด้านการออกแบบโฆษณา โดยวิธีวิจัยด้านการออกแบบแอปพลิเคชัน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1) เก็บรวบรวมวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง 2) สร้างเครื่องมือในการวิจัยครั้งที่ 1 3) เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ครั้งที่ 1 ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 3 ท่าน และเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์กลุ่มย่อย (Focus group) โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) จำนวน 16 ท่าน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ท่าน แบ่งกลุ่มตามเพศ 4) สร้างเครื่องมือในการวิจัยครั้งที่ 2 5) เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ครั้งที่ 2 จากผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มตัวอย่างเดิม ด้วยวิธีการเดิม ส่วนวิธีวิจัยด้านการออกแบบโฆษณา ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1) เก็บรวบรวมวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง 2) สร้างเครื่องมือในการวิจัย 3) เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 3 ท่าน และเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์กลุ่มย่อย (Focus group) โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) จำนวน 16 ท่าน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 8 ท่าน แบ่งกลุ่มตามเพศ ผลการศึกษาด้านกลยุทธ์พบว่าจุดขายสำคัญคือ 1) มีบริการช่วยคิดคัดเลือกเมนูอาหารอัตโนมัติ 2) มีบริการสั่งอาหารหลายมื้อได้ในครั้งเดียว 3) มีบริการจัดส่งที่ผู้ใช้ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ ผลการศึกษาด้านประชากรพบว่ากลุ่มเป้าหมายหลักคือคนใน Generation Y มีพฤติกรรมรักสบาย ต้องการบริการที่สะดวกสบาย ประหยัดแรง ประหยัดเวลา
ผลการศึกษาแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์ด้านการออกแบบแอปพลิเคชันพบว่า แนวโน้ม Soft shadows เป็นแนวโน้มที่เหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือแนวโน้ม Mixing photography with graphics และ Glassmorphism ซึ่งกลุ่มเพศชายพึงพอใจกับแนวโน้ม Mixing photography with graphics มากกว่า ในขณะที่กลุ่มเพศหญิงพึงพอใจกับแนวโน้ม Glassmorphism มากกว่า ลำดับถัดมาที่มีความเหมาะสมในการนำไปใช้งานต่อได้ คือแนวโน้ม 3D Graphics ส่วนแนวโน้ม Brutalism และ Geometric เป็นแนวโน้มที่ไม่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและธุรกิจนี้
ผลการศึกษาแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์ด้านการออกแบบโฆษณาพบว่า จุดจับใจด้านความคุ้มค่าในการซื้อและการทำงาน (Price or Value appeal) เป็นจุดจับใจที่เหมาะสมมากที่สุด รองลงมาคือจุดจับใจด้านอารมณ์ขัน (Humor appeal) ลำดับถัดมาคือจุดจับใจด้านความเป็นตัวเอง (Ego appeal) และจุดจับใจด้านประสาทสัมผัส (Sensory appeal) ซึ่งกลุ่มเพศชายพึงพอใจกับจุดจับใจด้านความเป็นตัวเอง (Ego appeal) มากกว่า ในขณะที่กลุ่มเพศหญิงพึงพอใจกับจุดจับใจด้านประสาทสัมผัส (Sensory appeal) มากกว่า ส่วนจุดจับใจด้านความกลัวหรือความโกรธ (Fear or Anger appeal) และจุดจับใจด้านเพศ (Sex appeal) เป็นจุดจับใจที่ไม่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและธุรกิจนี้