Abstract:
งานวิจัยเรื่อง จิตรกรรมและประติมากรรมประดับเรือนเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบ พัฒนาการ ความเป็นมา และกระบวนการเชิงช่าง ตลอดจนความหมายเชิงสัญลักษณ์ของลวดลายจิตรกรรมประดับเรือนเจ้าพระยาอภัยอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี โดยอาศัยวิธีการศึกษาจากหลักการตกแต่งสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ผนวกกับการเปรียบเทียบลวดลายประดับของอาคารแบบยุโรปในประเทศไทยเพื่อกำหนดอายุ และทราบถึงระบบของการประดับตกแต่งที่มีความสัมพันธ์กับบริบทของตัวอาคารซึ่งจากการศึกษาพบว่า ลวดลายประดับภายในเรือนเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับลวดลายประดับของอาคารแบบยุโรปที่ร่วมสมัยกันภายในประเทศไทย ทั้งรูปแบบและวิธีการเชิงช่าง อาทิเช่น เรือนพระยาศรีธรรมาธิราชที่มีลวดลายจิตรกรรมประดับ ซึ่งปรากฏลวดลายในกลุ่มผลไม้และพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ผล และใบองุ่น โดยเป็นกลุ่มลวดลายที่ปรากฏในเรือนเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในตำแหน่งห้องส่วนกลางของชั้นหนึ่งเช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกับบริบทของห้องและอาคารในลักษณะเดียวกัน ทั้งยังมีเทคนิคทางงานจิตรกรรมในการสร้างลวดลายที่คล้ายคลึงกัน คือ การใช้เทคนิคแม่พิมพ์ลายฉลุ(Stencil) เป็นต้นแบบสำหรับการสร้างลวดลายด้วยการลงสีบนแม่พิมพ์ ทั้งในลักษณะของการประคบและการทาสีเพื่อให้ลวดลายฉลุปรากฏขึ้นยังบริเวณที่ต้องการ
ลวดลายจิตรกรรมประดับของเรือนเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเกือบทั้งหมดล้วนเป็นลายฉลุแบบ “วิกตอเรียน(Victorian)” ลายดอกไม้ช่วงผนังเหนือซุ้มประตู ณ ห้องโถงกลางชั้น 2 ปรากฏลายแบบ “อาร์ตนูโว(Art Nouveau)” ซึ่งสร้างขึ้นด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ลายฉลุ นอกจากนี้ลวดลายประติมากรรมประดับยังปรากฏความสำคัญ โดยเฉพาะบริเวณหน้าจั่วของอาคาร ซึ่งประดับตกแต่งด้วยลวดลายพืชสมุนไพรอันสะท้อนถึงความเป็นตัวตนของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พร้อมทั้งยังเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการผลักดันให้เรือนแห่งนี้แปรสภาพมาเป็นโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในภายหลังอีกประการหนึ่ง