Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง กลวิธีและลีลาการขับร้องเพลงกระบวนทัพในละครพันทางเรื่องราชาธิราชของครูสมชาย ทับพร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลบทที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งกลวิธีและลีลาในการขับร้องเพลงกระบวนทัพในละครพันทางเรื่องราชาธิราช โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ในการสัมภาษณ์ข้อมูลจาก ครูสมชาย ทับพร รวมทั้งบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง แล้วนำข้อมูลที่ได้มาเรียบเรียงในรูปแบบการพรรณาวิเคราะห์ ผู้วิจัยเลือกศึกษาเพลงขับร้องช่วงกระบวนทัพ 3 ตอน จำนวน 42 เพลง ซึ่งผลการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้ ละครพันทางสามารถจำแนกได้เป็น 3 ยุค ได้แก่ 1. ละครพันทางยุคเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) 2. ละครพันทางยุคพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ 3. ละครพันทางยุคกรมศิลปากร
จากการศึกษาการขับร้องพบว่า ครูสมชาย ทับพร ให้ความสำคัญในการตีความทางด้านอารมณ์ของการขับร้องให้มีความสอดคล้องกับอารมณ์ของตัวละคร ผ่านการใช้กลวิธีพิเศษในการขับร้อง 9 กลวิธี โดยจำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มกลวิธีพิเศษเพื่อตกแต่งคำร้อง ได้แก่ การลักจังหวะ การปั้นคำ การม้วนเสียง-ม้วนคำ การผันเสียง และการเน้นเสียง-เน้นคำ 2. กลุ่มกลวิธีพิเศษเพื่อตกแต่งทำนองเอื้อน ได้แก่ การกระทบเสียง การสะบัดเสียง การโปรยเสียง และการโหนเสียง โดยกลวิธีพิเศษที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ การลักจังหวะ การสะบัดเสียง และการม้วนเสียง-ม้วนคำ กลวิธีพิเศษที่สร้างความโดดเด่นในการขับร้อง ได้แก่ การโปรยเสียง การโหนเสียง และการเน้นเสียง-เน้นคำ ในส่วนของลีลาการขับร้อง สามารถจำแนกออกได้เป็นเป็น 3 ประเด็น คือ 1. ลีลาการขับร้องในบทละครช่วงที่แสดงอารมณ์ของตัวละคร ประกอบด้วยลีลาการ ขับร้องที่สอดคล้องกับการใช้กลวิธี และลีลาการขับร้องที่เกิดจากอัตลักษณ์เฉพาะตัวของครูสมชาย ทับพร 2. ลีลาการขับร้องที่เกิดจากการแบ่งผู้ขับร้องตามบทละคร มี 3 ลักษณะ ได้แก่ การขับร้องเดี่ยว การขับร้องหมู่ และการขับร้องต้นบท-ลูกคู่ 3. ลีลาการขับร้องที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างการรับร้อง ส่งร้อง