Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองนี้เป็นการศึกษาแบบสองกลุ่มวัดผลสองครั้งก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้ยาตามเกณฑ์การรักษาในผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมรุนแรงก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการสนับสนุนของครอบครัว และ 2) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้ยาตามเกณฑ์การรักษาระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการสนับสนุนของครอบครัวกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลปกติ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมรุนแรงที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ จำนวน 40 คน และผู้ดูแลครอบครัวละ 1 คน ซึ่งได้รับการจับคู่ อายุและเพศแล้วสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จำนวนกลุ่มละ 20 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการสนับสนุนของครอบครัวซึ่งผู้วิจัยพัฒนาโปรแกรมฯ จากแนวคิดการสนับสนุนทางสังคม ของ House (1981) ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) โปรแกรมการสนับสนุนของครอบครัว 2) แบบสอบถามข้อมูล ส่วนบุคคล 3) แบบประเมินอาการทางจิต (Brief Psychiatric Rating Scale: BPRS) 4) แบบวัดพฤติกรรมการใช้ยาตามเกณฑ์การรักษา 5) แบบวัดการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งได้ผ่านการทดสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน มีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์อัลฟาครอนบราคเท่ากับ .85 และ .89 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1) พฤติกรรมการใช้ยาตามเกณฑ์การรักษาในผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมรุนแรงดีกว่าก่อนได้รับโปรแกรมการสนับสนุนของครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2) พฤติกรรมการใช้ยาตามเกณฑ์การรักษาในผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมรุนแรงกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการสนับสนุนของครอบครัวดีกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05