Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจในผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขภายหลังการได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ผู้ให้ข้อมูลในการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขจำนวน 6 คน โดยการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง อันได้แก่ ทันตแพทย์ เภสัชกร กายภาพบำบัดและแพทย์แผนไทยประยุกต์ อายุระหว่าง 25-48 ปี ซึ่งเป็นผู้เคยมีประสบการณ์ในการรับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและสิ้นสุดการรับบริการแล้วระยะเวลา6 เดือน - 4 ปี จำนวนครั้งในการรับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาโดยเฉลี่ย 3-4 sessions เพื่อทำการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้าง การเก็บรวมรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพรูปแบบปรากฎการณ์วิทยา โดยผู้วิจัยได้ทำการถอดเทปบันทึกการสนทนาแบบคำต่อคำ เพื่อนำมาถอดความ จัดหมวดหมู่และสรุปประเด็น ผลการศึกษาวิจัยพบ 3 ประเด็นหลักคือ (1) การตระหนักรู้ต่อปัญหาที่เผชิญ ประกอบด้วย การรับรู้ปัญหา ความรู้สึกต่อปัญหาที่เผชิญ ความพยายามออกจากปัญหาและความต้องการหลุดพ้นจากวงจรของปัญหา (2) การเข้าถึงแหล่งความช่วยเหลือแบบเป็นทางการ ประกอบด้วย ช่องทางการเข้าถึงแหล่งความช่วยเหลือแบบเป็นทางการ การรับรู้ที่มีต่อการปรึกษาเชิงจิตวิทยา การรับรู้ที่มีต่อแหล่งช่วยเหลือช่องทางอื่นและสิ่งสกัดกั้นในการเข้าถึงแหล่งความช่วยเหลือ (3) การเติบโตและงอกงามภายหลังก้าวข้ามผ่านปัญหา ประกอบด้วยความเข้าใจที่เกิดขึ้นในตนเองในการเผชิญปัญหาอย่างเหมาะสม ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการเติบโตและงอกงามทางจิตใจและความงอกงามภายหลังการก้าวข้ามผ่านปัญหา ผลการศึกษาวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดการบูรณาการในโครงการหรืองานวิจัยที่ส่งเสริมและดูแลสุขภาพทางจิตใจของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขในครั้งต่อไป