Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการปรับงานต่องานที่มีความหมาย โดยมีความสอดคล้องระหว่างบุคคลและงานเป็นตัวแปรส่งผ่าน โดยตั้งสมมติฐานว่า พฤติกรรมการปรับงาน ความสอดคล้องระหว่างบุคคลและงาน และงานที่มีความหมายของผู้เข้าร่วมโปรแกรมการปรับงาน จะมีระดับเพิ่มขึ้นหลังได้รับโปรแกรมการปรับงาน การวิจัยนี้ใช้วิธีวิจัยกึ่ง ทดลองในสนาม แบบเปรียบเทียบผลก่อนและหลังรับโปรแกรมการปรับงาน และเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม (two group pretest-posttest design) โดยมีกลุ่มตัวอย่างคือ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 54 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 26 คน และกลุ่มควบคุม 28 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการปรับงานที่ออกแบบโดยมีพื้นฐานแนวคิดจากรูปแบบโปรแกรมฝึกฝนการปรับงาน (The Job Crafting Exercise) และใช้เนื้อหาในการปรับงานตามแนวคิดการปรับงานเพื่อสร้างสมดุลระหว่างข้อเรียกร้องและทรัพยากรในงาน (JD-R Model) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติทดสอบความแปรปรวนซ้ำ (RM ANOVA) และสถิติทดสอบที (Independent t test) พบว่า ระดับของพฤติกรรมการปรับงาน ความสอดคล้องระหว่างบุคคลและงาน และงานที่มีความหมาย ในกลุ่มทดลอง เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังรับโปรแกรม ในทางกลับกัน ค่าคะแนนของตัวแปรทั้ง 3 ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มควบคุม นอกจากนั้น ผลของการทดสอบอิทธิพลส่งผ่านโดยใช้ PROCESS macro ยังพบอิทธิพลทางอ้อม (Indirect effect) ของโปรแกรมการปรับงานต่องานที่มีความหมาย โดยมีความสอดคล้องระหว่างบุคคลและงานเป็นตัวแปรส่งผ่านอย่างสมบูรณ์ (Full mediation) จึงสรุปได้ว่า โปรแกรมการปรับงานสามารถเพิ่มระดับงานที่มีความหมายได้โดยมีความสอดคล้องระหว่างบุคคลและงานเป็นตัวแปรส่งผ่าน