Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ศึกษาแนวคิดของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงกับผลประโยชน์ของชาติและเพื่อทำความเข้าใจบริบทการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สารนิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาว่าเพราะเหตุใดนโยบายต่างประเทศของฟิลิปปินส์ต่อจีนในสมัยของนายดูเตอร์เตจึงเปลี่ยนท่าทีจากแข็งกร้าวเป็นประนีประนอม ในระหว่าง ค.ศ.2016-2021 สารนิพนธ์ฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่เน้นวิเคราะห์ข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งเอกสารวิชาการ งานวิจัย และข้อมูลข่าวในสื่อต่างๆ โดยใช้กระบวนการศึกษาสภาพทางจิตวิทยาการเมืองของผู้นำโลก (The Political Psychology of World Leaders) ของ วาลเลอรี่ ฮัดสัน (Valerie Hudson) ที่อธิบายถึงพฤติกรรมการตอบสนองทางจิตวิทยาของผู้นำที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างใดอย่างหนึ่ง ผลการศึกษาพบว่านายดูเตอร์เตปรับท่าทีหลายครั้งในนโยบายต่างประเทศต่อจีน เริ่มจากสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์มากขึ้น พยายามมีส่วนร่วมกับจีนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และลดแรงกดดันจากกรณีพิพาททางทะเลในอดีตเมื่อเทียบกับจุดยืนที่คงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาไว้ แต่ก็แสดงจุดยืนในเรื่องกรณีพิพาททางทะเลว่าฟิลิปปินส์จะไม่ยอมรับการดำเนินการใดๆของจีนที่จะล้ำเส้นในพื้นที่สิทธิ์ทางทะเล ความคิดและการแสดงออกในนโยบายของนายดูเตอร์เตนั้นมาจากแนวคิดชาตินิยมของเขาและความเข้าใจรับรู้ผ่านประสบการณ์ของตนเองในอดีตต่อสถานการณ์ต่างประเทศของฟิลิปปินส์ ที่นำมาตีความการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่างประเทศโดยเลือกระบุตนเองให้เข้ากับบทบาท สถานภาพที่ต้องการ เลือกเป้าหมาย เลือกวิธีกระทำ เพื่อให้บรรลุถึงความพอใจในความเป็นตัวตนของตนเองเพราะต้องการให้ประชาชนยอมรับว่านโยบายต่างประเทศที่ดำเนินต่อจีนนั้นเหมาะสมและชอบธรรมภายใต้การเป็นผู้นำฟิลิปปินส์ของเขา