Abstract:
รายงานวิจัย “ผลกระทบจากการขาดแคลนบุคลากรมากประสบการณ์จากการเกษียณอายุราชการ ต่อผลการปฏิบัติงานภายในกองตรวจสอบอากร” จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากการขาดแคลนบุคลากรมากประสบการณ์จากการเกษียณอายุราชการ ต่อผลการปฏิบัติงานภายในกองตรวจสอบอากร สังกัดกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ข้าราชการเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกๆปี และเสนอแนะแนวทางในการวางแผนการจัดการทรัพยากรบุคคลแก่กองตรวจสอบอากร สำหรับการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และกระบวนการทำงานของข้าราชการ ทั้งนี้ในช่วงการดำเนินงานได้มีการประสานความร่วมมือและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านทรัพยากรบุคคลภายในหน่วยงาน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ มีการสัมภาษณ์ของผู้ให้สัมภาษณ์เพื่อได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึก อีกทั้งการเก็บข้อมูลงานวิจัยเชิงปริมาณจากแบบสอบถามจากบุคลากรภายในหน่วยงาน และได้มีการศึกษาทบทวนวรรณกรรมงานวิจัย และข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อได้มาซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพที่สุด
โดยการปฏิบัติงานภายในกองตรวจสอบอากรมีองค์ประกอบที่หลากหลาย ซึ่งต้องการทักษะเฉพาะด้านในแต่ละองค์ประกอบ อาทิ การจัดเก็บอากร การตรวจสอบเอกสาร การตรวจสอบพิกัดศุลกากร การตรวจสอบบัญชีเอกสาร การวิเคราะห์ความเสี่ยง และการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
จากการทำการวิจัยได้ผลลัพธ์การวิจัยว่า การเกษียณอายุราชการส่งผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานภายในกองตรวจสอบอากรในหลากหลายด้าน อาทิ การจัดเก็บและตรวจสอบเอกสารหลังผ่านพิธีการศุลกากร การตรวจสอบพิกัดอัตราศุลกากร และการขอรับสิทธิประโยชน์ทางอากรให้ครบถ้วน การกำหนดแนวทางหรือมาตรการด้านการตรวจสอบการจัดเก็บอากรและสิทธิประโยชน์ทางอากร กระบวนการและมาตรการในการจัดเก็บภาษีอากร เป็นต้น ซึ่งผลกระทบจะแตกต่างกันออกไปตามตำแหน่งของบุคลากรที่ได้เกษียณอายุราชการไป โดยตำแหน่งที่เมื่อเกษียณอายุราชการแล้วส่งผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานภายในกองตรวจสอบอากรมากที่สุดคือ ตำแหน่งนักวิชาการศุลกากรชำนาญการ ที่สะสมองค์ความรู้ไว้มาก และมีอัตราการเกษียณอายุที่สูงที่สุดภายในหน่วยงาน เพื่อลดผลกระทบจากการเกษียณอายุดังกล่าว กองตรวจสอบอากรควรมีการวางแผนการสอนงานผ่านระบบการโค้ช (Coaching) และระบบพี่เลี้ยง (Mentoring) พิจารณาการสรรหาบุคลากรที่มีชุดประสบการณ์ใกล้เคียงกันจากหน่วยงานอื่นภายในกรมศุลกากรมาทดแทน รวมไปถึงในระยะยาว ควรมีการปรับปรุงนโยบายวางแผนทรัพยากรบุคคล และการปรับตัวชี้วัดให้มีความเชื่อมโยงกันภายในกลุ่มด้วย