Abstract:
บทความวิจัยฉบับนี้วิเคราะห์อิทธิพลของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนในศตวรรษที่ ๒๑ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการรัฐประหารปี ๒๐๑๔ ในฐานะปัจจัยภายนอก และการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยตามยุทธศาสตร์การประกันความเสี่ยง (Hedging) ในการสร้างสมดุลระหว่างอิทธิพลมหาอำนาจดังกล่าวในฐานะปัจจัยภายใน ว่าทั้งสองส่วนนี้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทร. โดยเสนอผ่านกรอบแนวคิดการประกันความเสี่ยง ของ Evelyn Goh และการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นเครื่องมือทางการทูต (Procurement Diplomacy) เพื่อมุ่งตอบคำถามว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทร. ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสมดุลภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนอย่างไร ซึ่งเมื่อศึกษาจากนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับระเบียบและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการจัดหายุทโธปกรณ์ของไทย รวมถึงบทความทางวิชาการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านการจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทร. แล้วพบว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทร. แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสมดุลภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้เกิดความหลากหลายของยุทโธปกรณ์ในชนิดเดียวกัน และกระทบต่อขีดความสามารถของกำลังรบ ทร. ซึ่งเป็นผลการวิจัยที่แสดงในบทความฉบับนี้