Abstract:
การแทรกแซงตลาดของภาครัฐ มีทั้งวิธีการออกกฎหมายบังคับ การใช้มาตรการภาษี มาตรการทางการเงิน หรือมาตรการอื่น ๆ อันมีเป้าหมายเพื่อให้ระดับราคาสินค้ามีราคาที่สูงหรือต่ำกว่าราคาตลาด เป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตหรือผู้บริโภคไม่ให้เสียผลประโยชน์มากจนเกินไป สำหรับการผลิตภาคการเกษตรของไทย มีการแทรกแซงตลาดจากรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ด้วยเกษตรกรเป็นอาชีพของประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ของประเทศ อีกทั้งยังเป็นฐานคะแนนเสียงที่สำคัญในการเลือกตั้ง นโยบายที่เป็นการดูแลเกษตรกรจึงเป็นนโยบายในลำดับแรกที่ทุกพรรคการเมืองจะใช้ในการหาเสียง ประกอบกับ ผลผลิตข้าว ถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ทั้งการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกข้าว ภายหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายสำคัญคือการเก็บ “พรีเมี่ยมข้าว” หรือภาษีส่งออก ก่อนพัฒนาเป็นการจำนำข้าวที่มีการดำเนินงานที่ต่างกันในแต่ละสมัย ผ่านโครงการรับจำนำข้าว โครงการประกันรายได้ ซึ่งโครงการประกันรายได้นี้เองก็ได้ถูกดำเนินการมา 2 สมัยแล้วคือในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งดำเนินการในช่วงปี 2552 – 2553 และในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน การศึกษาในครั้งนี้จึงมุ่งหวังเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการอื่น ๆ ที่ดำเนินการควบคู่ ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และโครงการดังกล่าวสร้างภาระทางการคลังไว้อย่างไร
จากผลการศึกษาทำให้ทราบว่า โครงการประกันรายได้ เป็นโครงการที่รัฐบาลรับภาระชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันกับราคาตลาด แต่ในขณะเดียวกัน มาตรการอื่น ๆ ที่ดำเนินการควบคู่ กลับเป็นการดูดซับอุปทานข้าวออกจากตลาด โดยการส่งเสริมให้ชะลอการขายข้าว ไปขายนอกฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเป็นส่วนที่พยุงราคาไม่ให้ราคาข้าวต่ำจนเกิดไป จนทำให้รัฐบาลต้องรับภาระในการจ่ายชดเชยมากเกินความจำเป็น โดยการดำเนินโครงการในสมัยรัฐบาล พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา ได้มีการปรับปรุงแก้ไขโครงการให้สะดวกขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสำหรับภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ เนื่องจากตั้งงบประมาณเพื่อชดเชยภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีข้อจำกัดจากหลาย ๆ ปัจจัย จึงทำให้การดำเนินโครงการในลักษณะนี้จะต้องใช้ระยะเวลานานในการชำระคืน ดังนั้น การดำเนินโครงการในลักษณะนี้ จึงเหมาะสมกับการดำเนินการในระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น และควรพิจารณาดำเนินโครงการสร้างความยั่งยืนในการผลิต เช่น เกษตร Zoning เป็นต้น