Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งตอบคำถามที่ว่า กระบวนการปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชนจริงหรือไม่ โดยใช้แนวคิดวงจรนโยบาย (Policy Cycle) ของ Thomas R. Dye และใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ โดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างข้อปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ส่งมาให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในช่วงปี พ.ศ. 2562 ถึง พ.ศ. 2564 จำนวน 249 เรื่อง จากจำนวนทั้งหมด 658 เรื่อง แล้วบันทึกลักษณะต่าง ๆ ของข้อปรึกษาหารือ แต่ละเรื่องลงในแบบสำรวจ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) โดยเก็บข้อมูลจากฐานข้อมูลของกองประสานงานการเมือง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี งานวิจัยพบว่า กระบวนการดำเนินการตอบสนองข้อปรึกษาหารือมิได้นำไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อดำเนินการแก้ไขหรือตอบสนองความต้องการของประชาชน ถึงแม้ว่าจะมีการรายงานสรุปผลการดำเนินการจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ตาม โดยมีข้อปรึกษาหารือจำนวนเพียง 5 เรื่องเท่านั้น คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.01 ที่วาระนโยบายได้เข้าสู่ขั้นตอนการกำหนดนโยบาย และเข้าสู่การนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหา และเกิดผลลลัพธ์เชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรมต่อพื้นที่ นอกจากนี้ มีข้อปรึกษาหารือจำนวนเพียง 4 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 1.61 ที่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการนำนโยบายไปปฏิบัติโดยได้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเกิดผลลัพธ์เชิงบวกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการปรึกษาหารือของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นช่องทางที่ไม่มีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่าประชาชนควรใช้ช่องทางอื่น ๆ ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญในการสะท้อนปัญหาหรือความต้องการมากกว่าจะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสะท้อนความต้องการเหล่านั้นผ่านข้อปรึกษาหารือต่อรัฐสภา