Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นของพนักงานบริษัทจำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม ปตท. ที่มีต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง 2) เพื่อสำรวจปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความคิดเห็นเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและ 3) เพื่อเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจากพนักงานบริษัทจำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม ปตท.ระหว่างบริษัทที่มีสถานะรัฐวิสาหกิจกับเอกชน ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้ใช้ระเบียบวิธิวิจัยเชิงผสมผสาน สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 408 คน แล้วทำการวิเคราะห์ผลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS โดยสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติการทดสอบ t-test และสถิติทดสอบความแปรปรวนทางเดียว (One Way-ANOVA) ในขณะที่การวิจัยเชิงคุณภาพใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นเครื่องมือในการเก็ยบข้อมูลโดยเลือกจำนวน 6 คนจากรัฐวิสาหกิจ 3 คน และเอกชน 3 คน โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า โดยภาพรวมระดับความคิดเห็นต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างฯของพนักงานบริษัทจำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม ปตท. อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาระดับความคิดเห็นต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างฯ ของพนักงานบริษัทจำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม ปตท. ตามปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลด้านสถานะของบริษัท สังกัดบริษัท หน่วยงานที่สังกัด ประสบการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้าง ขนาดขององค์กร และปัจจัยสภาพแวดล้อมด้านสื่อมวลชน และกลุ่มและสังคมที่เกี่ยวข้อง มีผลต่อระดับความคิดเห็นต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างฯของพนักงานบริษัทจำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม ปตท. ส่วนปัจจัยส่วนบุคคลด้านระดับตำแหน่งงานและระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ไม่มีผลต่อระดับความคิดเห็นต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างฯของพนักงานบริษัทจำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม ปตท. ในขณะที่ผลการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกับการวิจัยเชิงปริมาณ โดยได้มีประเด็นที่ควรเพิ่มเติม คือ 1) กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างควรอยู่ในรูปแบบออนไลน์ 2) ทิศทางในอนาคตของการจัดซื้อจัดจ้างต้องลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินงาน และ 3) ผู้นำส่งผลต่อการจัดซื้อจัดจ้าง ผลจากการเปรียบเทียบคิดเห็นเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจากพนักงานบริษัทจำกัด (มหาชน) ในกลุ่ม ปตท.ระหว่างบริษัทที่มีสถานะรัฐวิสาหกิจกับเอกชน จำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มรัฐวิสาหกิจและเอกชนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ได้แก่ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นระบบ มีแบบแผนในการทำงาน และ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างควรมีความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายงานต่าง ๆ ในองค์กร 2) กลุ่มรัฐวิสาหกิจและเอกชนมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน ได้แก่ ประเด็นเคยพบเจอการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และการวางแผนด้านการจัดซื้อจัดจ้างรายปีทำให้บรรลุเป้าหมายของการจัดซื้อจัดจ้าง และ 3) กลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ ความโปร่งใส ระยะเวลาการดำเนินงานที่ล่าช้า การยึดติดกับกฎระเบียบ และผู้ค้าน้อยลงส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคา