Abstract:
ประเทศไทยเกิดภัยพิบัติด้านน้ำบ่อยครั้ง อันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและจากฝีมือมนุษย์ สร้างความเสียหายต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงอาจจะต้องคำนวณจากความสัมพันธ์ของปริมาณน้ำต้นทุน (Supply) และปริมาณความต้องการใช้น้ำ (Demand) กรมชลประทานได้ชี้ว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 มีสาเหตุจากปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 - 2562 ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีอยู่ที่ร้อยละ 16 ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศลดน้อยลง โดยมีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งรวมถึงพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำมีระดับความรุนแรงสูงสุดในรอบ 14 ปี ในจังหวัดระยองมีอ่างเก็บน้ำที่สำคัญจำนวน 5 อ่างฯ ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 ปริมาณน้ำคงเหลือทั้ง 5 อ่างฯ มีปริมาณคงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 50 นับว่าเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ และหากฤดูฝนในปี 2563 ล่าช้าออกไปจนถึงเดือนพฤษภาคม จะให้เกิดการขาดแคลนน้ำอย่างหนักจนกระทบต่อหลายพื้นที่
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะหรือรูปแบบการดำเนินการของภาครัฐและผู้ใช้น้ำในสถานการณ์วิกฤต ศึกษาระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ใช้น้ำในสถานการณ์วิกฤต อีกทั้งเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์วิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้ข้อมูลทุติยภูมิที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤตภัยแล้ง ร่วมกับการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารภาครัฐและผู้ใช้น้ำที่เกี่ยวข้อง โดยผลการศึกษามาตรการในการบริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤตภัยแล้ง จังหวัดระยอง มีลักษณะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและผู้ใช้น้ำ ตั้งแต่ระยะก่อนเกิดภาวะวิกฤต ระยะเกิดภาวะวิกฤต และระยะหลังเกิดภาวะวิกฤต
ข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษา ด้านความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำระหว่างภาครัฐและตัวแทนผู้ใช้น้ำภาคอุปโภคบริโภค และตัวแทนผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม มีการร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกันผู้ใช้น้ำภาคเกษตรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานยังมีบทบาทน้อยเกินไป การแก้ปัญหาด้านการจัดการน้ำแบบบูรณาการที่แท้จริง ต้องประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่มีทั้งส่วนได้และส่วนเสีย เข้าร่วมทุกองค์ประกอบของกิจกรรม อันจะนำมาซึ่งความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาลอย่างยั่งยืน