Abstract:
งานวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพการพัฒนาเป็นระบบราชการ 4.0 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) 2) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของปัจจัยส่วนบุคคลที่มีต่อการเป็น ปภ. 4.0 3) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็น ปภ. 4.0 และ 4) เพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาสู่การเป็น ปภ. 4.0 ใช้วิธีวิจัยเชิงผสมผสาน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามและสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการศึกษาพบว่า
1. การพัฒนาเป็นระบบราชการ 4.0 ของ ปภ. แบ่งเป็น 1) ปัจจัยการพัฒนาสู่ระบบราชการ 4.0 ของ ปภ. ภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านผู้นำ ด้านความร่วมมือ ด้านนวัตกรรม ด้านบุคลากร ด้านความเป็นดิจิทัล ด้านผลลัพธ์ ด้านผู้รับบริการ และด้านกระบวนการ และ 2) การเป็น ปภ. 4.0 ภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านภาครัฐที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน ด้านการมีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย และด้านการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
2. ปัจจัยส่วนบุคคลที่มีผลทำให้ความคิดเห็นต่อการเป็น ปภ. 4.0 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ ตำแหน่งงาน และสังกัด
3. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเป็น ปภ. 4.0 ได้แก่ ด้านการให้ความร่วมมือ ด้านบุคลากร และด้านผู้นำ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยปัจจัยทั้ง 3 ร่วมกันพยากรณ์การเป็น ปภ. 4.0 ได้ร้อยละ 78.20
4. แนวทางในการสู่การเป็น ปภ. 4.0 สรุปได้ 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ควรมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาระบบการทำงาน 2) ด้านบุคลากร ควรยกระดับระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลสู่ HRM 4.0 3) ด้านเครือข่ายและความเป็นหุ้นส่วน ควรสนับสนุนจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบมีส่วนร่วม และ 4) ด้านแผน กฎหมาย และแนวปฏิบัติ ควรมีการปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับระบบราชการ 4.0