Abstract:
สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคต่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลของประเทศไทยภายใต้พันธกรณีของอนุสัญญาออตตาวา โดยเฉพาะการปฏิบัติตามพันธกรณีข้อ 5 ว่าด้วยการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลในพื้นที่ทุ่นระเบิดภายใต้เขตอำนาจหรือการควบคุมของรัฐภาคีภายในกรอบระยะเวลา 10 ปี หลังจากอนุสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อรัฐภาคี โดยจะใช้กรอบทฤษฎีประกอบสร้างนิยม (Constructivism) ในการศึกษาและวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรคต่อการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของประเทศไทยที่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามพันธกรณีในอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งจากการศึกษา พบว่า อนุสัญญาที่เผยแพร่บรรทัดฐานที่เน้นมนุษย์ (Human-centric) ขัดต่อบรรทัดฐานที่เน้นรัฐ (State-centric) ที่เคยยึดถือกันมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ระบบการปกครองในแต่ละรัฐบาลของประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องการเก็บกู้ทุ่นระเบิดไม่เท่ากัน และเกิดความไม่ต่อเนื่องในการปฏิบัติตามบรรทัดฐาน รวมทั้งการไม่มี Norm entrepreneur ภายในประเทศเข้ามาผลักดันประเด็นปัญหานี้ได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้การรับเอาบรรทัดฐานเข้ามากลายเป็นเรื่องของการคล้อยตามทางสังคม (Social conformity) ซึ่งอยู่ในระดับรัฐที่มีการยอมรับแบบผิวเผิน และต้องการแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่าตนเองให้ความสำคัญและสามารถปฏิบัติตามบรรทัดฐานนี้ได้ เพื่อผลประโยชน์ทางวัตถุเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเกิดความขัดกันของแนวทาง (Contestation) ในการช่วยเหลือของประเทศสหรัฐอเมริกา ในกระบวนการคิดกับวิธีการกวาดล้างทุ่นระเบิดที่ไม่ตรงกับบริบทของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีภูมิประเทศที่แตกต่างจากประเทศฝั่งตะวันตก เช่น พื้นที่สูงชัน ป่ารกทึบ ห่างไกล และยากต่อการเข้าถึง ทั้งนี้ จึงทำให้การปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของประเทศไทยมีประสิทธิภาพน้อย และไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้เสร็จสิ้นได้ภายในกรอบระยะเวลา 10 ปี