Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดำเนินการและความร่วมมือในการจัดการปัญหาโจรสลัดและการปล้นเรือของสิงคโปร์ร่วมกับรัฐชายฝั่งในช่องแคบมะละกา จากการศึกษาด้วยการวิเคราะห์เอกสารและใช้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับระบอบระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นจุดประสานความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย ถึงผลประโยชน์ร่วมกันของรัฐ และงานวิจัยได้ข้อค้นพบดังนี้ ประการที่หนึ่ง ปัญหาโจรสลัดเป็นปัญหาที่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่อาจแก้ไขให้สำเร็จได้ถ้าหากไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศอื่น ๆ เพราะโจรสลัดและการปล้นเรือใช้ทะเลที่เป็นน่านน้ำระหว่างประเทศเป็นเส้นทางปฏิบัติการต่อเป้าหมาย ระบอบระหว่างประเทศที่เรียกว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามการกระทำที่ผิดกฎหมายต่อความปลอดภัยของการเดินเรือ ค.ศ. 1988 (SUA Convention) จึงได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อวางกรอบประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสำหรับแก้ไขปัญหาดังกล่าว และประการที่สอง ประเทศที่ตั้งอยู่ในช่องแคบมะละกา มีเพียงสิงคโปร์ที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ ในขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย มิได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของระบอบระหว่างประเทศดังกล่าว เพราะกังวลว่าอาจกระทบต่ออธิปไตยและอัตตาณัติในการดำเนินนโยบายของตน แต่สิงคโปร์สามารถประสานความร่วมมือกับรัฐชายฝั่งเหล่านี้ได้ ในรูปแบบข้อตกลงระดับทวิภาคี และระหว่างหน่วยงานฝ่ายปฏิบัติของสิงคโปร์กับของรัฐชายฝั่งแต่ละประเทศ ประการที่สาม แม้ระบอบระหว่างประเทศจะไม่ได้มีผลบังคับต่อประเทศที่มิได้เป็นสมาชิก แต่ประเทศที่เป็นสมาชิกสามารถปรับหลักการ บรรทัดฐาน และมาตรการดำเนินการหลายอย่างที่ระบอบระหว่างประเทศวางไว้เป็นกรอบอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ มาเป็นแนวทางประสานความร่วมมือกับประเทศที่มิได้เป็นสมาชิก ดังเช่นที่สิงคโปร์สามารถประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว