Abstract:
ตำแหน่งพนักงานสอบสวนหญิงนั้นถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญในกระบวนการสอบสวน ในคดีที่ผู้เสียหายเป็น เด็ก สตรี เมื่อตรวจสอบจำนวนนั้นของพนักงานสอบสวนหญิงดูแล้วนั้นพบว่ามีน้อยมากเมื่อเทียบประชากรในปัจจุบัน ยิ่งในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงมีประชากรที่หนาแน่น มีอัตราการเกิดคดีต่างๆ สูงขึ้นตามจำนวนของประชากร การเปิดรับสมัครพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้เปิดรับเป็นประจำทุกปี เมื่อมีการเปิดรับสมัครเข้ามาแล้วพนักงานสอบสวนหญิงก็ต้องผ่านกระบวนการฝึกอบรมโดยใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงจะสามารถมาปฏิบัติงานจริงในสถานีตำรวจได้ ซึ่งเมื่อมาปฏิบัติงานจริงในตำแหน่งพนักงานสอบสวนแล้วหากเกิดปัญหา และปัญหาไม่ได้ถูกนำไปแก้ไข ถ้าพนักงานสอบสวนหญิงตัดสินใจที่ลาออก ก็จะทำให้จำนวนของพนักงานสอบสวนหญิงซึ่งมีจำนวนที่น้อยอยู่แล้วนั้นลดน้อยลงไปอีก การวิจัยเรื่องการรักษาพนักงานสอบสวนหญิงให้อยู่ในตำแหน่งงาน กรณีศึกษา : พนักงานสอบสวนหญิงที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงสนใจที่จะศึกษาการรักษาพนักงานสอบสวนให้อยู่ในตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป
การวิจัย มีวัตถุประสงค์ เพื่อ ศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนหญิงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และแนวทางในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่พนักงานสอบสวนหญิงเผชิญรวมถึงแนวทางรักษาพนักงานสอบสวนหญิงในตำแหน่ง การศึกษาเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยให้ผู้สัมภาษณ์คือ พนักงานสอบสวนหญิงที่ปฏิบัติหน้าที่จริงในปัจจุบัน เพื่อนร่วมงานของพนักงานสอบสวนหญิง และ ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนหญิง ในพื้นที่ 4 สถานีตำรวจของกองบัญชาตำรวจนครบาลได้แก่ สถานีตำรวจนครบาลสายไหม สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร และ สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง
ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาที่และอุปสรรคที่พบในการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนหญิงคือ การปรับใช้ความรู้ในการปฏิบัติงาน ปริมาณงานที่ตนเองรับผิดชอบ ความเครียดและความกดดันจากการทำงาน การขาดการสนับสนุนในการทำงาน และ ขาดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของพนักงานสอบสวนหญิง แนวทางการแก้ปัญหาคือผู้บังคับบัญชาควรให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้น หมั่นสอบถามถึงปัญหาต่างๆ ในการทำงานว่าติดขัดสิ่งใดหรือไม่ หากมีสิ่งที่เป็นปัญหาผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานก็ควรให้การสนับสนุนและร่วมกันแก้ปัญหานั้นเพื่อให้สามารถดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้โดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ควรให้การสนับสนุนช่วยเหลือโดยการจัดหาอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวนให้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ หมึกพิมพ์ เจ้าหน้าที่ขับรถ ยานพาหนะและเชื้อเพลิงที่ใช้เดินทางออกตรวจสถานที่เกิดเหตุ ประกอบกับตัวพนักงานสอบสวนหญิงก็ต้องปรับตัวให้พร้อมสำหรับการทำงานอยู่เสมอ นำข้อแนะนำของพนักงานสอบสวนหญิงเคยปฏิบัติหน้าที่มาก่อนมาปรับใช้ เช่นการอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ ที่เกี่ยวกับลักษณะคดีเกี่ยวกับเพศ เด็ก สตรี ก็ควรพิจารณาให้พนักงานสอบสวนหญิงเข้าไปอบรมก่อนเป็นลำดับแรก