Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ 1) การวิเคราะห์สภาพปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย ทั้งในระดับภาพรวมและระดับอำเภอเบตง จังหวัดยะลา 2) การศึกษาแนวทางการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางการค้าและการมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียภายใต้บริบทของการพัฒนานโยบายแบบมีส่วนร่วม ทั้งนี้ผู้วิจัยเลือกใช้รูปแบบการวิจัยเชิงเอกสารและการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งมีการใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญภายในพื้นที่ชายแดน ได้แก่ ผู้ประกอบการการค้าบริเวณชายแดนในอำเภอเบตง, ผู้ปฏิบัติงานหรือข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้านการค้าชายแดนตามบทบาทหน้าที่ในสำนักงานพาณิชย์จังหวัด, ผู้ปฏิบัติงานหรือข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณด่านการค้าชายแดนในอำเภอเบตง (ได้แก่ นายด่านศุลกากรเบตง และเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเบตง), ผู้ปฏิบัติงานหรือข้าราชการด้านกลุ่มงานการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา, และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา
ผลการวิเคราะห์ที่สำคัญในการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ชายแดนดังกล่าวกำลังประสบปัญหา 3 ประการ ได้แก่ 1) ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, 2) สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 2019 (Covid-19) และ 3) สภาพปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศซบเซา ในขณะเดียวกันอุปสรรคที่พบเกี่ยวกับการค้าชายแดนในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ โครงข่ายเส้นทางการคมนาคมที่ยังขาดความต่อเนื่องและไม่มีประสิทธิภาพ, ผู้ประกอบการการค้ายังขาดทักษะด้านภาษาที่จำเป็นสำหรับการค้าชายแดน, การขาดเสถียรภาพของแรงงานทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ซึ่งปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อข้อจำกัดในการแข่งขันของผู้ประกอบการการค้าในพื้นที่อำเภอเบตง ด้วยเหตุนี้ฝ่ายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนหรือการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนจึงควรมีบทบาทหลักเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าโดยการส่งเสริมองค์ความรู้และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการค้าและการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการการค้าในพื้นที่อำเภอเบตง ในขณะเดียวกันการพัฒนานโยบายการค้าชายแดนก็ควรมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลาเพื่อให้สอดรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง รวมถึงการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการการค้าได้เข้ามามีบทบาทในด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้า โดยที่ฝ่ายภาครัฐเป็นเพียงผู้ประสานงานและมอบอำนาจการตัดสินใจในด้านการค้าให้แก่ผู้ประกอบการการค้าโดยตรง