Abstract:
งานวิจัยเรื่องนี้มุ่งตอบคำถามว่าเหตุใดผู้ประกอบการรายย่อยที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นโครงการเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อยในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ โดยใช้ผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดอมรพันธ์ เขตจตุจักรกรุงเทพมหานคร เป็นกรณีศึกษา ผู้วิจัยใช้กรอบแนวคิดการตัดสินใจเลือกอย่างมีเหตุผล (Rational Choice) ประกอบกับแนวคิด ภาระทางการบริหาร (Administrative Burden) ครอบคลุมทั้งต้นทุนการเรียนรู้ ต้นทุนในการปฏิบัติตามนโยบาย และผลประโยชน์ที่จะได้รับ งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างกับผู้ประกอบการในตลาดอมรพันธุ์ที่เข้าร่วมโครงการ 2 คน และไม่เข้าร่วมโครงการ 8 คน งานวิจัยชิ้นนี้ค้นพบว่าสาเหตุที่ผู้ประกอบการรายย่อยไม่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งเกี่ยวข้องกับต้นทุนการดำเนินการที่จะเกิดจากการเข้าร่วมโครงการ ประการแรก ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีขนาดเล็กมาก จำเป็นต้องใช้เงินหมุนเวียนวันต่อวัน จึงไม่สามารถแบกรับภาระของการรอเงินโอนเข้าบัญชีในวันถัดไปได้ ประการที่สอง ต้นทุนการทำรายการ (Transaction Costs) ที่เกิดขึ้นจากการใช้แอปพลิเคชัน ไม่คุ้มค่าต่อผู้ประกอบการในกรณีที่ราคาต่อหน่วยของสินค้าต่ำมาก ๆ หรือกรณีที่ผู้ประกอบการมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกรณีของสินค้าบริโภค เช่น น้ำปั่น อาหาร ประการที่สาม ผู้ประกอบการที่มีอายุมากไม่สามารถเรียนรู้วิธีการใช้งานแอปพลิเคชั่นหรือเข้าใจกระบวนการสมัครเข้าร่วมโครงการได้ ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้สะท้อนว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการรายย่อยตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการฯ ไม่ได้เกิดจากความต้องการหลีกเลี่ยงระบบภาษีตามที่วรรณกรรมส่วนใหญ่เสนอแนะไว้ แต่เกิดจากข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ภาครัฐมองข้ามไป เนื่องจากความไม่เข้าใจลักษณะการประกอบการของผู้ประกอบการรายย่อยที่มีขนาดเล็กมาก เหล่านี้